“เฉลิมชัย” ร่วมแสดงความยินดี และมอบนโยบาย เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
24มีนาคม 64นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อนำภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีนโยบายสำคัญ 15 ด้าน ขับเคลื่อนการทำงานใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เป็นยุทธศาสตร์หลักเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์ (แพลตฟอร์มรายสินค้าเพื่อรองรับ New Normal) ตลาดออฟไลน์ Modern Trade รถโมบาย ตลาดสด คาราวานสินค้า เกษตรพันธสัญญา และเคาน์เตอร์เทรด จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ซื้อกับผู้ขาย เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจ ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยใช้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ร่วมกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับเกษตรกร ยุทธศาสตร์ “3’s” Safety-Security-Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน และสนับสนุนการทำแผนบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา รวมถึงการใช้ Agri-Map เพื่อให้มีการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการตลาด เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ การสร้างความร่วมมือในการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้ครอบคลุมทั้งสินค้าและทรัพยากรทางการเกษตร และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบายและข้อมูลสารสนเทศการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ต้องมีการขับเคลื่อนในเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ภาคการเกษตร เพื่อการบริหารและช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่รอบด้าน โดยรวบรวมข้อมูลและการดำเนินงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรให้ครอบคลุมทุกมิติ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตร และทรัพยากรทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Economy) เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย สร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร เป็นภูมิคุ้มกัน กระจายรายได้ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นนโยบายและกลไกหนึ่งที่สำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติให้แก่เกษตรกร ด้วยเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยโทรศัพท์มือถือของตนเอง ทำให้กระบวนการจ่ายเงินไปถึงมือเกษตรกรได้รวดเร็วกว่าเดิม และการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนการขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ หรือ Special Agricultural Economic Zone ที่ได้มอบหมาย สศก. ศึกษาโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร และศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ส่งเสริมผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศต่อไป
“กระทรวงเกษตรฯ ดูแลทั้งภาคการเกษตร ภาคการผลิต รวมถึงการตลาด ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการจะปรับพื้นฐานของเกษตรกร ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ให้ดีขึ้น จึงต้องดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะ สศก. ที่ต้องประสานกับทุกหน่วยงาน ต้องจัดทำข้อมูลให้มีความถูกชัดเจน เพื่อสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ได้ สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่จะต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และใช้งานวิจัยให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งงานวิจัยจะสามารถเพิ่มศักภาพ เพิ่มมูลค่า และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อยกระดับพี่น้องเกษตรกรทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยงาน ต้องคิดว่าเกษตรกรเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน และที่สำคัญเราต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ เป้าหมายในการเป็นครัวโลกต้องเกิดขึ้นและเราต้องทำให้ได้ อย่างมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ จึงได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานให้บุคลากรได้นำไปปรับใช้ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรอย่างรอบด้าน การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานด้านข้อมูล วิจัย นโยบาย ประเมินผล และการบริหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ “องค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ภายในปี 2565”