“เฉลิมชัย “สั่งคุมเข้มกันเกษตรกรห้ามตัดทุเรียนอ่อนขาย ย้ำผิดกฎหมายเตือนพ่อค้ารับมาขายต่อก็เข้าข่ายหลอกลวงมีโทษจำคุก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่ทุเรียนเริ่มออกสู่ตลาด โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออกในช่วงต้นฤดูกาลจะมีราคาสูง เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดยังมีปริมาณน้อย ประกอบกับมียอดสั่งซื้อล่วงหน้าผ่านพ่อค้าคนกลางและล้งอีกจำนวนมาก เป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อาจเกิดแรงจูงใจให้รีบตัดทุเรียนออกขายในช่วงนี้เพื่อทำกำไร ในขณะที่ทุเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ครบอายุการเก็บเกี่ยว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยในเรื่องคุณภาพของทุเรียนและผลกระทบด้านการตลาดดังกล่าวมาก ขอเน้นย้ำว่าการตัดทุเรียนอ่อน หรือด้อยคุณภาพออกจำหน่ายนั้น ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและพ่อค้าคนกลางที่รับมาจำหน่ายมีความผิดตามกฎหมายจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างเข้มงวดแล้ว
ขณะที่นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่าได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดแหล่งผลิตที่สำคัญ ร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมายได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ในพื้นที่หน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการควบคุมทุเรียนอ่อนด้วย เช่น จังหวัดจันทบุรี หากเกษตรกรมีผลผลิตที่พร้อมตัดจำหน่ายก่อนวันที่ 10 เมษายน 2564 หากต้องการจะตัดจำหน่ายจะต้องแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร หรือเกษตรอำเภอก่อนตัด ซึ่งจะช่วยควบคุมคุณภาพผลผลิตก่อนออกสู่ตลาดได้อีกทางหนึ่ง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาทุเรียนอ่อน นอกจากปัจจัยด้านราคาแล้ว ยังมีปัจจัยด้านการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร เกษตรกรเจ้าของสวนจำนวนไม่น้อยต้องการความสะดวกจึงจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางหรือล้งในลักษณะเหมาสวน ทำให้เกษตรกรไม่ได้ควบคุมการเก็บเกี่ยว รวมไปถึงเป็นกลยุทธ์ของพ่อค้าเองที่จะตัดทุเรียนอ่อนไปจำหน่ายเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการน้อยลงในระยะหนึ่ง จากนั้นทุเรียนจะมีราคาลดต่ำลง แล้วพ่อค้าก็กลับไปกดราคาจากชาวสวนหรือเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาก และนำมาขายทำกำไรส่วนต่างจำนวนมากนั่นเอง
สำหรับผลเสียหายที่เกิดจากการขายทุเรียนอ่อน นอกจากจะทำลายความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรของผู้บริโภคภายในประเทศแล้ว ยังจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดส่งออกอีกด้วย เนื่องจากในอนาคตอันใกล้ประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนามและกัมพูชาจะสามารถผลิตทุเรียนคุณภาพได้มากขึ้น และมีความได้เปรียบทุเรียนไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำกว่า อีกทั้งที่ตั้งยังอยู่ใกล้ประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทยมากกว่าด้วย ซึ่งหากยังมีการลักลอบส่งออกทุเรียนอ่อนไปตลาดต่างประเทศ จะทำให้ทุเรียนไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่งในไม่ช้า
ทั้งนี้ผู้บริโภคที่จะซื้อทุเรียน มีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ ถ้าหากร่องของเปลือกทุเรียนยังมีสีเขียวและชิดกันอยู่แสดงว่า ยังไม่แก่ แต่ถ้าร่องเริ่มห่างกันและมีสีน้ำตาลแสดงว่า แก่แล้ว หรือใช้ไม้เคาะแล้วฟังเสียง หากได้ยินเสียงโปร่งไม่แน่นทึบแสดงว่า แก่แล้ว