กรมฝนหลวงฯ สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ ช่วยดับไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 15 เที่ยวบิน
พร้อมทั้งใช้เทคนิคทำฝนเมฆอุ่น เมฆเย็น ช่วยบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
วันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (วันที่ 17 มีนาคม 2564) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ ในภารกิจดับไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน บริเวณ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ขึ้นบินปฏิบัติการตักน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สาบเป็นจำนวน 15 เที่ยวบิน และสามารถตักน้ำช่วยเหลือได้จำนวน 7,500 ลิตร โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อป้องกันและควบคุมไฟป่าไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ในขณะเดียวกันหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ได้ใช้เทคนิคทำฝน เมฆอุ่น เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณ อำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และใช้เทคนิค เมฆเย็น ซึ่งทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดน่าน โดยมีปริมาณฝนตก 0.2 – 3.2 มิลลิเมตร แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหมอกควันและไฟป่ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยทั่วประเทศ โดยมีการร่วมมือกับกองทัพอากาศและกองทัพบกในการสนับสนุนอากาศยานในการปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือเกษตรกรโดยแบ่งออกเป็น 4 ภารกิจหลักคือ 1. ภารกิจช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 2. ภารกิจเติมน้ำให้กับเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่ขาดแคลนน้ำหรือที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย 3. ภารกิจบรรเทาไฟป่าและหมอกควัน 4. ภารกิจติดตามพายุฤดูร้อนที่จะกลายเป็นพายุลูกเห็บ ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ ยังคงติดตามพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า และหากสภาพอากาศระหว่างวันมีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จะเร่งช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายบรรเทาปัญหาหมอกควัน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง สำหรับอีก 10 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ยังคงมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ถ้าสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวงก็พร้อมให้การช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางการติดต่อของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ทาง เพจ Facebook, Instagram, Twitter Line Official Account หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ หรือโทรศัพท์ 02-109-5100