ฝนหลวงฯ เร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคอีสาน พร้อมร่วมลงนาม MOU กับอินโดนีเซีย
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง
วันที่ 17 มีนาคม 2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงติดตามข้อมูลและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมไปถึงการเติมน้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยว่า 30% ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศและกองทัพบกในการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม 2564) กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและบรรเทาความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำจำนวน 8 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 3 แห่ง และ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงได้มีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่การเกษตร จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ
อย่างไรก็ตามในนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ผ่านการประชุมเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) กับดร. ฮัมมาน รีซ่า (Dr. Hammam Riza) ประธานสำนักประเมินและประยุกต์การใช้เทคโนโลยีแห่งอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และพัฒนาบุคลากรในการดำเนินงานวิจัย ภายใต้กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567
ซึ่งทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อแก้ไขความผันแปรของสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาความท้าทายและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงตกลงจะดำเนินความร่วมมือและจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการดำเนินความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ระยะ 20 ปี ด้านที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศด้วยการบูรณาการและสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกการปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติต่อไป