มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับมอบทุนสนับสนุนการวิจัย 10 ล้านบาท
เพื่อปรับปรุงพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับประเทศไทยและให้ดอกที่มีสาร CBD สูงสุด พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านกัญชงและสมุนไพร
ที่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
วันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีรับมอบทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด และเพื่อร่วมสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศกัญชงและสมุนไพร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดย นายชนินทร์ เฮ้งเจริญสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท หนองคายเพาเวอร์ดริ๊งก์ (เครื่องดื่มดับเบิ้ลซี) จำกัด บริษัท โกลกรีน เวลเนส กรุ๊ป จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มีความประสงค์มอบทุนสนับสนุนการวิจัย ดังกล่าวจำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อมอบให้นักวิจัย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ อนุรักษ์อุดม และคณะห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินการวิจัยตามวัตถุประสงค์ต่อไป ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ในด้านการวิจัย การบริการวิชาการแก่ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่ต้องการนำกัญชงไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โอกาสนี้ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม เข้าร่วมในพิธีรับมอบด้วย
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีและขอขอบคุณภาคเอกชนที่มอบทุนสนับสนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานวิจัยอย่างเต็มที่ด้วยศักยภาพของนักวิจัยมก.ทีมงานนิสิตปริญญาโท-เอก และบุคลากรห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
“ผมมีความเชื่อมั่นในงานวิจัย และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกิดจากกัญชง ประเทศไทยมีนโยบายด้าน BCG อย่างแข็งแรง และการวิจัยเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด นั้น ได้ตอบโจทย์นโยบาย BCG ของประเทศโดยตรง ผมคิดว่าแบรนด์การเกษตรของประเทศไทยแข็งแรง เป็นที่ยอมรับทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อน ประเทศไทยของเรามีชื่อเสียงมากและเราซึ่งเป็นนักวิจัยก็ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่”
ด้าน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม หนึ่งในนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ.2563 โดยให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานรัฐ ใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ และเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม ทางการแพทย์ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งเป็นการปลดล็อกกัญชงในวงกว้าง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 แล้วนั้น และด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีพันธุ์กัญชงที่ได้รับรองพันธุ์ เพียงแค่ 4 สายพันธุ์คือ RPF1- 4 และใน 4 สายพันธุ์นี้ ยังไม่มีสายพันธุ์ใดที่เหมาะสมที่จะปลูกเพื่อนำดอกกัญชง ไปผลิตสารสำคัญเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยปรับปรุงพันธุ์ที่จะต้องหาทางปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย สามารถให้ดอกที่มีปริมาณสาร Cannabinoid : CBD สูงสุด
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ มก.