กรมอุทยานฯ แจ้งข้อหาเพิ่มสวนสัตว์ดัง 3 เสือโคร่ง DNA ไม่ตรงปก
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 64 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) นายสถิตย์ พิสัยสวัสดิ์ หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหาร (ไซเตส)ร่วมกับหน่วยพญาเสือ เข้าตรวจมุกดาสวนเสือและฟาร์ม จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งจากการข่าวพบว่าสวนสัตว์แห่งนี้มีพฤติกรรมลักลอบค้าเสือโคร่ง โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย.63 ได้เข้าตรวจเสือโคร่งของสวนสัตว์ โดยเก็บตัวอย่างเลือดเสือโคร่ง 5 ตัว และซากเสือ 1 ตัวที่ตายลงเพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ ทั้งนี้ผลตรวจจากศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 และศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เมื่อ 2 ก.พ.64 พบว่าเสือโคร่งตัวผู้ชื่อข้าวเม่า และข้าวเปลือก ไม่มีความสัมพันกับพ่อชื่อโดโด้ และแม่ชื่อมะเฟือง อีกทั้งไม่มีความสัมพันธ์กับเสือชื่อให้ลาภ และให้ทองตามที่สวนสัตว์เคยแจ้งว่าไว้กับกรมอุทยานฯ และหลักฐานดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิบัติการในการตรวจยึดสัตว์ป่าในสวนสัตว์แห่งนี้
สำหรับเสือโคร่ง 2 ตัวคือ ข้าวเม่า และข้าวเปลือก” ได้นำไปเลี้ยงดูแลไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ จังหวัดศรีษะเกษ ซากเสือโคร่งข้าวเหนียว” ถูกเก็บรักษาโดยแช่ในฟอร์มาลีนไว้ที่ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ เข้าตรวจสอบมุกดาสวนเสือและฟาร์ม ที่มีนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช เป็นเจ้าของ ใบอนุญาตใช้ถึงวันที่ 2 ก.พ.2565 โดยได้ขอเปิดดำเนินกิจการสวนสัตว์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.2559 โดยตรวจยึดเมื่อ 17 ม.ค.62 แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะบางตัวเป็นสัตว์ต่างประเทศ เพราะมีแพนด้าแดง จำนวน 3 ตัว แต่ปรากฏว่ายังมีการลักลอบนำสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่งเข้ามาสวมดีเอ็นเอ ทางกรมอุทยานฯจะแจ้ง 3 ข้อหาในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
การเข้าตรวจสอบวันนี้ยังได้แจ้งผลตรวจดีเอ็นเอเสือโคร่งกับ นายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ สวนสัตว์ พร้อมจะเข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 กรณีความผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ฐาน “มีไว้ในครอบครอง ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ฐานผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 267 ฐาน ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร/รายงานจากมุกดาหาร