(วช.) หนุนสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อเตรียมพร้อมสังคมผู้สูงวัย

(วช.) หนุนสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อเตรียมพร้อมสังคมผู้สูงวัย

 

 

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญคือภาวะโรคกระดูกและข้อ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูงวัยที่มีภาวะโรคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย จึงได้เริ่มการศึกษาสำรวจภาวะโรคดังกล่าวในประชากรสูงวัยทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์เตรียมความพร้อมและป้องกันโรคกระดูกและข้อที่ส่งผลให้ผู้สูงวัยมีบั้นปลายชีวิตที่เป็นสุข

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในแผนการวิจัยโครงการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักจะเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง รวมทั้งผู้สูงวัยมักมีอาการโรคทางกระดูกและข้อ โรคดังกล่าวถือเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีผลต่อภาระทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมา

ตัวอย่างปัญหาด้านสุขภาพในผู้สูงอายุที่พบในโรคทางกระดูกและข้อ เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคกระดูกพรุน โรคข้อสะโพกหรือข้อเข่าเสื่อม ทำให้ประสิทธิภาพการเดินลดลงและทรงตัวไม่ดี เมื่อพลัดตกหกล้มจะมีโอกาสทำให้กระดูกหักตามมาได้บ่อย โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกเปราะบางและเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการกระดูกหักในตำแหน่งต่างๆ ผู้สูงอายุที่เกิดกระดูกหักต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและต้องมีญาติหรือคนดูแลอย่างใกล้ชิด แต่หากผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สุดท้ายจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ลดลงและมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันนี้พบว่ามีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีไม่มากและไม่ทันสมัย ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลของประชากรไทย ในปัจจุบันที่มีโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีงานวิจัยอื่นที่ค้นพบว่าโรคมวลกล้ามเนื้อน้อยสัมพันธ์กับการพลัดตกหกล้ม ภาวะการเกิดกระดูกหัก การเสื่อมสมรรถภาพทางกาย ภาวะอ่อนแอเปราะบาง คุณภาพชีวิตที่ลดลง และต้องพึ่งพาคนดูแล รวมถึงมีอัตราเสียชีวิตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีโรคมวลกล้ามเนื้อถดถอยถึง 5 เท่า แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยถึงอัตราความชุกโรคมวลกล้ามเนื้อน้อยในประเทศไทยมาก่อน

สำหรับแผนการวิจัยการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย มีโครงการวิจัยย่อย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัยความชุกของผู้สูงอายุชาวไทยที่มีโรคกระดูกพรุนโดยใช้เครื่องมือและการตรวจความหนาแน่นของกระดูก โครงการวิจัยความชุกของผู้สูงอายุชาวไทยที่มี โรคมวลกล้ามเนื้อน้อยโดยใช้เครื่องมือประเมินมวลกล้ามเนื้อ (Bio-impedance analysis : BIA) การวัดแรงบีบมือ (Hand grip strength) และ การวัดความเร็วของการเดินปกติ (Gait speed) และโครงการศึกษาความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุของประชากรไทย ซึ่งจะศึกษาในตัวแทนตัวแทนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่ครอบคลุมจังหวัดในทุกภูมิภาคจำนวน 12 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมในโครงการนี้จำนวน 3,000 คน

“ข้อมูลจากการสำรวจจากแผนการวิจัยนี้จะนำไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงและคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนและการเกิดกระดูกหักก่อนวัยอันควร และนำไปสู่แนวทางการป้องกัน ส่งเสริมและรักษาผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตในช่วงนี้ให้ดีที่สุด หากข้อมูลดังกล่าวนี้แล้วเสร็จเชื่อว่าจะสามารถนำไปเผยแพร่ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปประสานงานกับโรงพยาบาลในทุกระดับตั้งแต่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัด โดยเน้นให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรทางสาธารณสุขที่สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยป้องกันปัญหาโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุได้ ทีมงานเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมจากตัวแทนประชากรทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ จะสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดและเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่คนไทยต่อไป” ศ.นพ.อภิชาติฯ ระบุ

พร้อมกันนี้ ศ.นพ.อภิชาติฯ ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคกระดูกและข้อ โดยระบุว่า การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยกลางคนที่เข้าสู่วัยทองจะมีปัญหาขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ส่งผลให้เกิดกระดูกพรุน การรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซี่ยมสูงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เช่น อาหารประเภทนม หรือเนย เป็นต้น การออกกำลังกายที่เหมาะสม พร้อมรับแสงแดดบ้างเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีเพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูก ซึ่งนอกจากลดภาวะกระดูกบางแล้ว ยังช่วยลดภาวะโรคอ้วนได้ด้วย การรับประทานอาหารครบทุกหมู่ มีการพักผ่อนที่พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจผ่องใส ซึ่งจะส่งผลให้พวกเราเข้าสู่วัยสูงอายุที่ปราศจากโรคและมีคุณภาพในอนาคต

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

 

 

 

 

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
“ทีเส็บ วีซ่า” ชวนสัมผัสมนต์เสน่ห์ไมซ์เหนือระดับ  พร้อมสิทธิประโยชน์-ประสบการณ์สุดพิเศษในไทย ผ่านบัตร “Thailand MICE Visa Prepaid Card” เพียงใบเดียว
0 Minutes
ข่าวประชาสัมพันธ์
กิ่งกาชาดอำเภอแม่สายตั้งโรงครัว เตรียมอาหารและน้ำดื่ม ให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม และเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือประชาชน
0 Minutes
สังคม
พบปะสังสรรค์ และพูดคุยหารือเรื่องข้อกฎหมาย 
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
องคมนตรี มอบรางวัล THAILAND MORAL AWARDS 2023 เชิดชูเกียรติ สื่อ บุคคล ชุมชนและองค์กร ที่สร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนของสังคม ย้ำเป็นก้าวสำคัญให้คนไทยตระหนักถึงการทำความดีว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้เป็นรูปธรรม