น้ำเค็มหนุนรุกแม่น้ำปราจีนบุรี แม่ น้ำนครนายกหนัก!เตรียมจัดระดมรถบรรทุกน้ำวิ่งรดน้ำนาข้าวชาวนา ก่อนยืนต้นตาย ระหว่างตั้งท้อง-ออกรวงกว่า 9,000 ไร่
เมื่อเวลา 19.30 น. วันนี้ 30 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี รายงานความคืบหน้า จากปัญหาภัยแล้ง ได้เกิดภาวะน้ำเค็มจากปากอ่าวไทยหนุนสูงขึ้นมาตามแม่น้ำบางปะกง ผ่านขึ้นมาสูงถึงพื้นที่แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก ก่อนรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง ใน ต.บางแตน ,ต.บางเตย และ ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ระดับค่าความเค็มสูงกว่า 7 มก./ล. น้ำในแม่น้ำไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และอุปโภค – บริโภคได้ เกษตรกรชาวนาข้าวกว่า15,000 ไร่ ในพื้นที่ ต.หัวไทร , ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทราเขตติดต่อกับ ต.บางแตน ,ต.บางเตย และ ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี อยู่ระหว่างข้าวท้อง –ออกรวงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจืดอย่างหนัก หากไม่ได้รับน้ำจืดต้นข้าวจะยืนต้นตายเมล็ดลีบเล็ก ได้รวมตัวยื่นหนังสือร้องทุกข์ กับ ผวจ.ปราจีนบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการขอให้กรมชลประทานปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนห้วยสโมงหรือ นฤบดินทรจินดา วันละ 3 ล้าน ลบ.ม. นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด นายวรพันธ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชกาจังหวัดปราจีนบุรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตาม ประเมินผลการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยจังหวัดปราจีนบุรี เกิดสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำปราจีนบุรี – แม่น้ำบางปะกง เป็นประจำทุกปี ถือเป็นภัยพิบัติประจำถิ่น
ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ตำบลบางแตน ตำบลบางยาง และ ตำบลบางเตย ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ผลผลิต นาข้าวได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๔ ณ ห้องประชุมสระมรกต (๔๐๑) ชั้น ๔ ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรได้ยื่นข้อเสนอให้จังหวัดปราจีนบุรีผลักดันน้ำมาช่วยเกษตรกร ในพื้นที่ดังกล่าว และเสนอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำระดับอำเภอ ผู้นำระดับท้องถิ่น ผู้แทนเกษตรกร บูรณาการร่วมกันตรวจติดตาม ประเมินผลปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการ การแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วน ในการบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทาน ตลอดจน ประสานการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครอบคลุม ที่ประชุมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตาม ประเมินผล การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ จังหวัดปราจีนบุรี
ในการติดตาม เฝ้าระวังการรุกตัวของน้ำเค็ม ประชาสัมพันธ์และ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำเค็ม และรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ปราจีนบุรี โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปราจีนบุรีประธานคณะทำงาน , ผู้อำนวยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวงคณะทำงาน , นายอำเภอบ้านสร้าง คณะทำงาน , ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดปราจีนบุรี คณะทำงาน , เกษตรอำเภอบ้านสร้าง คณะทำงาน , ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไม่เกิน ๕ ท่าน ที่ได้รับมอบหมาย คณะทำงาน, เกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี คณะทำงานและเลขานุการ , หัวหน้ากลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการพิเศษ คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยวันนี้ ( 31 ม.ค.) คณะทำงานชลประทานนัดตัวแทนผู้ใช้น้ำ เพื่อตรวจติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก ได้แจ้งนัดหมายคณะทำงานฯ ที่ได้รับการแต่งตั้ง ติดตามประเมินผลการตรวจวัดค่าน้ำเค็มประกอบด้วย นางสุภาพรทองเอม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลบางยาง , นายมาโนช พูลสวัสดิ์ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลบางยาง , นายจำรัส ง้อบุตร สภาเกษตร , นายสุชิน สุมาสอ ,นายธนุวัฒน์ บุญจันทร์ ตัวแทนนายอำเภอบ้านสร้าง , นายวิสูตร สว่างระ เกษตรอำเภอบ้านสร้าง , จสอ.ยงยุทธ พิทักษ์ราษฎร์ สังกัด กอ.รมน.ปราจีนบุรี (แทน) , นายพยนต์ พฤกษากำนันตำบลบางยาง , นายอนุทิน ประธานกลุ่มเกษตร , นางศิรินภา เจนเขา ส. อบต.บางแตน , นายวินัย ฟมเผ่าลา ส.อบต. บางแตน , นางสาว ระชวย ศาลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลบางแตน ได้ลงพื้นที่ติดตาม ประเมินผล การปล่อยน้ำจากเขื่อนห้วยสโมง หรือนฤบดินทรจินดา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ.บ้านสร้าง ณ ท่าน้ำวัดบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยวัดค่าระดับความเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี พบระดับความเค็มสูงกว่า 7.7 มก./ล.
แสดงให้เห็นว่าน้ำจืดที่ปล่อยลงมา แรงดันน้ำ ยังไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้ ได้ประชุมเบื้องต้น ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ กรมชลประทาน จะทำการระดมเครื่องมือ อาทิ เครื่องจักรกลหนัก ,เครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานเพื่อเตรียมสูบน้ำ หากปริมาณน้ำจืดสามารถผลักดันน้ำเค็มได้ นำเข้าสู่ประตูระบายน้ำ พร้อมจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายเกษตรกรนาข้าวรดน้ำนาข้าว ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่ให้นาข้าวยืนต้นตาย
นายจำนงค์ ธรรมสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปราจีนบุรี กล่าวว่า “ ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นอกเขตชลประทาน จุดบรรจบแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก น้ำเค็มรุกแม่น้ำปราจีนบุรีไปกว่า 8 กม. แม่น้ำนครนายก 20 กม. พื้นที่ประมาณ 5,600ไร่ กรมชลประทาน จะนำรถน้ำ นำน้ำจืดไปบรรเทาช่วยเหลือ ในเบื้องต้นป้องกันข้าวยืนต้นตาย ” นายจำนงกล่าว
ด้าน นายวิสูตร สว่างอุระ เกษตรอำเภอบ้านสร้าง กล่าวว่า “ ในส่วน อ.บ้านสร้าง ประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนนาข้าวประสบปัญหา 3 ตำบล ต.บางแตน พื้นที่ 1,800ไร่ , ต.บางเตย พื้นที่ กว่า 3,000ไร่ และ ต.บางยาง พื้นที่กว่า4,000ไร่ รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 9,000 ไร่ เศษได้ประสานกรมชลประทาน จ.ปราจีนบุรี ให้การช่วยเหลือต่อไป”นายวิสูตร กล่าว
ขณะที่ นายจำรูญ สวยดี คณะกรรมการลุ่มน้ำปราจีนบุรี กล่าวว่า “ ได้นัดหมายว่าน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนฤบดินทรจินดาวันละ 2.5 ล้าน ลบ.ม.มาตามแม่น้ำปราจีนบุรี ปรากฏว่าค่าความเค็มไม่ลด แรงดันน้ำที่ปล่อยสู้แรงดันน้ำเค็มไม่ได้ ทางที่ดีที่จะเหลือชาวนาข้าว ให้แก้ไขโดยใช้รถน้ำ จากหน่วยงานต่าง ๆ มารดน้ำในนาข้าวเพื่อช่วยเกษตรกรชาวนาข้าวเป็นเบื้องต้น กรมชลฯจะนำเครื่องจักรกลหนักลงมาช่วยเพื่อสูบน้ำมาช่วยอีกทางหนึ่ง”นายจำรูญ กล่าว
ด้าน นายประยูร ยินยง อายุ 70 ปี หมู่ 4 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า “ ข้าวนา ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง เหลือระยะเวลาอีก 45 วันจะเก็บเกี่ยว น้ำจืดแห้งมาครึ่งเดือนแล้ว หากน้ำไม่มีจะแห้ง ได้นำน้ำตามบ่อที่บ้านดูดมารดในนาข้าว แต่ไม่พอ อยากให้รัฐบาลบิ๊กตู่ ชดเชยที่เสีย ทำนารวม 18 ไร่ ทำข้าวพันธุ์ MG.อายุยาว ระยะ 4เดือนกว่า ขอให้กรมชลประทานปล่อยน้ำจืดมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา ภายในอาทิตย์นี้ หากเกินกำหนด ต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง –ออกรวง จะแห้งยินต้นตาย ไม่ทันการ”นายประยูรกล่าว
ด้านนางสาว ระชวย ศาลา อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลบางแตน กล่าวว่า “ชาวนาข้าวหมู่ 4 กว่า 800ไร่ ข้าวกำลังตั้งท้อง –ออกรวง กำลังขาดน้ำ หากไม่ได้น้ำจืดจะแห้งยืนต้นตายเสียหายแน่นอน พร้อม ๆ กับที่บ้านยังทำเกษตรผสมผสาน ก็ไม่มีน้ำจืดพอเพียงเช่นกัน โดยในหมู่บ้านรับน้ำจากแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีนบุรี ก่อนรวมกันเป็นปากน้ำแม่น้ำบางปะกง ” นางสาว ระชวยกล่าว
ขณะที่ นางเฉลียว แสงเนตร อายุ 75 ปี หมู่ 4 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ทำนามาตลอดอายุ ปัญหาที่พบคือขาดน้ำจืด อยากขอให้กรมชลฯปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนนฤบดินทรจินดา มาช่วยเหลือสักระยะให้ต้นข้างรอดตาย เพราะเป็นการลงทุนครั้งสุดท้ายของชาวนา”นางเฉลียว กล่าว
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่หมู่บ้านไผ่ดำ หมู่ 6 ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง พบนางสุภาพร ทองเอม อายุ 49 ปี ผญบ.หมู่ 6 ต.บางยางยาง อ.บ้านสร้าง พร้อมลูกบ้าน กล่าวว่า “ปัญหาน้ำเค็มหนุน กระทบพื้นที่ เนื่องจากติดแม่น้ำนครนายก และ แม่น้ำปราจีนบุรีก่อนบรรจบกันเป็นปากน้ำบางบางปะกง ที่ ต.บางแตน ถ้าทางการไม่ส่งน้ำมาช่วย จะประสบปัญหานาข้าวพื้นที่กว่า 900 ไร่เศษขาดแคลนน้ำ เพราะน้ำในแม่น้ำทั้ง 2 สายเค็มใช้ประโยชน์ไม่ได้ทั้ง 2สาย ขอให้เขื่อนนฤบดินทรจินดา ปล่อยปล่อยน้ำมาช่วยผลักดันน้ำเค็มมาที่แยกบางแตน อ.บ้านสร้างจะช่วยได้” นางสุภาพร กล่าว
และ ร่วมกันกล่าวว่า “แม้ชาวบ้าน จะมีการขุดสระขนาดเล็กไว้ตามบ้าน ตามนาข้าวพื้น 1 -2 ไร่ หรือ ตามแหล่งน้ำสาธารณะ น้ำจืดดังกล่าวก็ไม่เพียงพอ”นางสุภาพร กล่าวในที่สุด
ภาพ วัฒนา พวงสมบัติ
ข่าว มานิตย์ สนับบุญ