“นายกฯ”คุยกับเยาวชนใน “รัฐฟังฉัน” ฟังเสียงสะท้อน-ข้อเสนอ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 64
วันที่ 9 ม.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมสนทนากับผู้แทนเยาวชน เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยนายกรัฐมนตรีย้ำ ทุกคนคือบุคคลสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ พร้อมขอให้เยาวชนไทยยึดมั่น คุณธรรม รักภักดี ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการว่า วันนี้เป็นงานวันเด็ก ที่ไม่เหมือนทุกปีทั่วไป เนื่องจากสถานการณ์โควิด -19 อยากให้ทุกคนช่วยกันดูแล ป้องกันตัวเอง วันเด็กแห่งชาติ เป็นวันที่สำคัญของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นความหวังและความสวยงามที่ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตไปในวันข้างหน้า พร้อมอัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2564 ความว่า “วัยเด็กเป็นวัยที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานของชีวิต เด็กทุกคนควรตั้งใจศึกษาและฝึกฝนตนเอง ให้ถึงพร้อมทั้งความรู้และความดี แต่ละคนจะได้มีรากฐานที่มั่นคง เพื่อพัฒนาต่อยอด เป็นความสำเร็จ ความเจริญ และความสุขในชีวิตในวันข้างหน้า”
จึงอยากเห็นเยาวชนสืบสานต่อยอดตามพระบรมราโชวาท เข้าใจซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในการทำงาน การคิดนอกกรอบนั้นสามารถทำได้ แต่เมื่อลงมือทำก็ต้องมาให้เข้ามาในกรอบ การทำงานจะลงมือทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันทำ รัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะดึงทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมและทำงานร่วมกัน แม้วันนี้ไม่ได้จัดงานในสถานที่จริง แต่ก็ยินดีที่จะจัดรายการผ่านระบบออนไลน์ เพื่อมอบสิ่งดี ๆ และความสุขให้กับลูกหลาน วันนี้ตั้งใจเปิดพื้นที่ สร้างเวที แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ ซึ่งทุกคนคือบุคคลสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ อยากให้เยาวชนไทยทุกคนมีคุณธรรม จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ระหว่างการสนทนาในรายการ นายกรัฐมนตรียังชื่นชมการรวมกลุ่มของเยาวชนเพื่อทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มสม็อกกะธอน สนใจการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า กลุ่มแฮกกะธอน ที่รวบรวมปัญหาของระบบราชการไทย หรือกลุ่ม ยูธอินชาร์จ ที่รวมเยาวชนที่เป็นพลังในด้านต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลกำลังดูว่าจะต่อยอดกิจกรรมเหล่านี้ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลก็คำนึงถึงการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้พิการที่มีประมาณสองล้านคนทั่วประเทศ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข ยกระดับทักษะและอาชีพคนพิการ ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้การดูแลทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังให้มีการรวบรวม Big Data ชุมชนที่มีอยู่ในกรุงเทพกว่า 2,000 ชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
โอกาสนี้ นายรวินท์ ชอบใช้ กล่าวถึงการทำงานในปัจจุบันได้ร่วมกับภาครัฐและหน่วยราชการ ที่เชื่อใน พลังของคนรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสทำงานช่วยเหลือสังคม โดยจัดทำโครงการ “รัฐฟังฉัน” เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและโครงการของเยาวชนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมชุมชนให้ดีขึ้น และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย
ขณะที่ นางสาวเมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ กล่าวสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ต้องการสนับสนุนให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน โดยตนเองได้ร่วมกับหน่วยงานจัดให้มีการพัฒนาอบรมทักษะดิจิตอลในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อพัฒนางาน AI ให้คนพิการ 400 คน และหลังจากนี้ 400 คนที่ผ่านการอบรมแล้ว จะมีการนำ 200 คนจากกลุ่มนี้จัดงานเชื่อมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งในปีนี้ จะ มี AI ตัวแรกของโลกที่คนพิการไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
นางสาวนวรัตน์ แววพลอยงาม กล่าวถึงการทำงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เริ่มต้นที่ชุมชนบ้านเกิดของตนเอง คือ ชุมชนนางเลิ้ง โดยทำงานกับผู้ด้อยโอกาสและงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชนต่าง ๆ ปัจจุบันได้สร้างเข้มแข็งให้คนในชุมชน ยกตัวอย่างและในการรับมือกับสถานการณ์โควิด -19 โดยจัดตั้งกลุ่มศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระดับชุมชน Community x Covid-19 เพื่อระดมสิ่งของ อาหาร น้ำอุปโภคบริโภคให้กับคนในชุมชนนางเลิ้ง
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์รวบรวมอาหารของดีของนางเลิ้ง จึงอยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมแพลตฟอร์มของชุมชน รวมทั้งการท่องเที่ยวชุมชน การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือพัฒนาศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นในชุมชน ตลอดจนสร้างเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ช่วงหนึ่งในรายการ นายกรัฐมนแสดงความชื่นชมกิจกรรม “รัฐฟังฉัน” ขณะเดียวกันก็ขอให้เยาวชน “ฉันฟังรัฐ” ด้วย พร้อมฝากให้ผู้แทนเยาวชนช่วยเสนอแนะด้วยที่จะทำให้คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าสามารถผสานแนวคิดเพื่อพัฒนาไปด้วยกัน รวมทั้งการเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีและโซเซียวมีเดีย ทั้งนี้ จะได้นำความคิดเห็นของทุกคน ปรับให้สอดคล้องกับการทำงานและเชื่อมต่อกับสภาเด็กและเยาวชน โดยนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวตอนท้ายรายการว่า พร้อมรับเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเยาวชนและยินดีสนับสนุน เพราะอยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมาตามที่เยาวชนเสนอมาด้วย