“โคบาลบูรพา” จำหน่ายผลผลิตลูกโค เงินสะพัดส่งท้ายปี
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่ากรมปศุสัตว์ดำเนินการโครงการโคบาลบูรพาขึ้นเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของภาคตะวันออกแต่มีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานเพียงร้อยละ 10.4 ของพื้นที่ในการทำการเกษตร ทำให้ค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำและบางพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน สภาพดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์และพัฒนาให้จังหวัดสระแก้วเป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ “โคบาลบูรพา” ที่สำคัญของประเทศ มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจรนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560
โดยเกษตรกรจะได้รับการสนับสนุน โคเนื้อรายละ 5 ตัว แพะเนื้อรายละ 32 ตัว พร้อมค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างแปลงพืชอาหารสัตว์ โรงเรือนและบ่อบาดาล ทั้งนี้เกษตรกรต้องส่งคืนโคเพศเมียอายุ 12 เดือน 5 ตัวแรก /ลูกแพะเพศเมียอายุ 6 เดือน 32 ตัวแรกให้โครงการ เพื่อนำไปขยายผลช่วยเหลือเกษตรกรรายใหม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
อย่างไรก็ตามตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน สมาชิกในโครงการสามารถจำหน่ยโคเนื้อเพศผู้มากกว่า 375 ตัว สร้างรายได้แก่เกษตรกรมากกว่า 10 ล้านบาทและยังสามารถขยายผลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรระยะที่ 2 ได้ถึง 195 รายเป็นโคเนื้อ 990 ตัวซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งแล้ว ยังช่วยเหลือ ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ แก่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้ออีกด้วย