อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงกรณีปัญหาการส่งออกสุกรไปประเทศกัมพูชา และพร้อมเปิดด่านฯตามนโยบาย รมว.กษ.อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงกรณีปัญหาการส่งออกสุกรไปประเทศกัมพูชา

และพร้อมเปิดด่านฯตามนโยบาย รมว.กษ.อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

 

 

นายสัตวแพทยสรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร-แห่งชาติ ระบุถึงปัญหาการส่งออกสุกรมีชีวิตไปประเทศกัมพูชาว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งออกได้ จากความขัดแย้งระหว่าง โบรกเกอร์ กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์ทำการค้ากับประเทศกัมพูชา กับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิ์ ที่ใช้รถยนต์และรถบรรทุกปิดกั้นถนนไม่ให้รถขนสุกรผ่านจุดผ่านแดนได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อนานกว่า 1 เดือน ส่งผลให้ปริมาณสุกรล้นตลาดจนกระทบต่อราคาหมูที่ตกต่ำลงอย่างมาก และเกษตรกรต้องแบกรับภาวะการขาดทุนมากว่า 3 ปี

ทั้งนี้ แม้จะเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาผ่านนายกรัฐมนตรี  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมปศุสัตว์ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และมีการโยนความรับผิดชอบไปมาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ รวมทั้งกระทรวง-   การต่างประเทศ ในประเด็นข้อโต้แย้งเรื่อง การเป็น AEC อย่างไรก็ตาม หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศจะนัดรวมตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อทวงถามคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายใน 7 วัน ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 24 ธ.ค. นั้น กรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา หน่วยงานสุขภาพสัตว์และการผลิต ราชอาณาจักรกัมพูชา (General Directorate of Animal Health and Production: GDAHP) ได้มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ส่งถึงกรมปศุสัตว์ แจ้งข้อกำหนด (requirement) การนำเข้า/นำผ่านสุกรมีชีวิตไปยังกัมพูชา/เวียดนามฉบับใหม่ พร้อมกับแจ้งอนุญาตให้ผู้ประกอบการจำนวน 5 บริษัท เป็นผู้ส่งออกได้ โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เคยส่งออกได้มาก่อนอีกจำนวน 24 บริษัท ได้รับผลกระทบไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงได้รวมกลุ่มกันไปปิดกั้นถนนไม่ให้รถขนสุกรมีชีวิตเพื่อการส่งออกทางด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 63 GDAHP ได้แจ้งเพิ่มเติม อนุญาตให้ผู้ประกอบการอีก 5 บริษัท รวมเป็น 10 บริษัท สามารถส่งออกไปยังกัมพูชาได้

อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์รับผิดชอบการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสัตว์ (Health Certificate) และใบอนุญาตนำสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร โดยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 (ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง การขออนุญาต การออกใบอนุญาต วิธีการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ.2558) โดยปัจจุบัน การส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการนำเข้า ยังคงมีการออกหนังสือรับรองฯ และใบอนุญาตฯ ได้ตามปกติ ในส่วนของประเทศกัมพูชาได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการนำเข้าใหม่ กรมปศุสัตว์จึงอยู่ในระหว่างประสานงานให้กัมพูชาพิจารณาเห็นชอบร่างหนังสือรับรองฯ ฉบับใหม่

ปัจจุบัน GDAHP ได้ผ่อนปรนให้ใช้หนังสือรับรองฯ ฉบับเดิมไปก่อนได้ กรมปศุสัตว์จึงสามารถออกหนังสือรับรองฯ และใบอนุญาตฯ ให้ผู้ประกอบการ ได้ทันที หากมีผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตพร้อมหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563  มีผู้ประกอบการ ที่ GDAHP อนุญาตให้ส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังประเทศกัมพูชาได้มายื่นขอหนังสือรับรองฯ และใบอนุญาตฯ ณ ด่านกักกันสัตว์ โดยกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ได้ตรวจสอบหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง จึงได้ออกหนังสือรับรองฯ และใบอนุญาตฯ แล้ว จำนวน 4 ฉบับ

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ส่งหนังสือขอเพิ่มรายชื่อผู้ส่งออกเพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาแล้ว โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กระทรวงการต่างประเทศ จะเร่งติดตามการเจรจาขอเพิ่มรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออก/นำผ่านไปกัมพูชา กับหน่วยงานภาครัฐของกัมพูชา โดยเร่งด่วน ตามมติที่ประชุมติดตามความคืบหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกสุกรไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา กรณีมาตรการจำกัดการนำเข้าสุกรจากไทย เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 63 ณ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ด้วยแล้ว และล่าสุด ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสัตว์ (HC) พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ทุกด่านสามารถส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร่งด่วนอีกด้วย