กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ โรงงานหลวงฯ ที่ 1 ทรงเปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ โรงงานหลวงฯ ที่ 1

ทรงเปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ

 

 

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่จังหวัดเชียงใหม่, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ ในโครงการพัฒนาการผลิตสตรอเบอรี่ ณ โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตรและโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ตลอดจนแขกรับเชิญ และเกษตรกรในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ เมี่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพลับพลาพิธี ณ โรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม นายพิพัฒน์พงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลรายงานและเบิกผู้สนันสนุนโครงการเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จากนั้นทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย พร้อมทอดพระเนตรโรงคัดบรรจุ ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม หลังที่ 14 แล้วประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม หลังที่ 10 พร้อมทอดพระเนตรธนาคารน้ำผิวดินและแปลงทดลองและสาธิตกลางแจ้ง แล้วจึงทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ดอกสีขาว จำนวน 1 ต้น

จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โดยมี นายทวีศักดิ์ เลาหวิโรจน์ รองผู้จัดการใหญ่ (ด้านนวัตกรรมและการผลิต) เฝ้าฯ รับเสด็จ และถวายคำอธิบายขณะทอดพระเนตรห้องเพาะเลี้ยงต้นพันธุ์พืชปลอดโรค ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา (Molecular Laboratory) โดยทรงตรวจสอบโรคพืชด้วยเทคนิคอณูชีววิทยา (RNA) แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลังคากันฝนแปลงปลูกสตรว์เบอร์รีในพื้นที่ลาดเอียง รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ โดยรอบอาคารโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินประทับพักพระราชอิริยาบถ ณ ห้องรับรอง พร้อมเสวยพระกระยาหารกลางวัน ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนแขกรับเชิญที่เข้าเฝ้าฯรับเสด็จ ณ ชานพักโรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตรและโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช พร้อมทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะหน่วยงานราชการและเอกชน ที่ร่วมสนับสนุน โครงการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับโครงการพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงคัดบรรจุ ณ โรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตรและโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นเนื่องจาก
ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในแปลงธรรมชาติ ตามสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน มีอัตราผลผลิตเสียหายจำนวนมาก จากสภาพอากาศ สภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงถูกแมลงศัตรูพืชทำลาย และเป็นโรคพืช อีกทั้งเกษตรกรผลิตต้นพันธุ์เอง ในแต่ละฤดูกาลจึงทำให้ต้นพันธุ์ที่ใช้ ไม่ปลอดโรค แสดงลักษณะด้อย ให้ผลผลิตตกต่ำ มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล็งเห็นปัญหาของเกษตรกรข้างต้น จึงดำเนินการสร้างโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช เพื่อผลิตต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีปลอดโรค พัฒนาเทคนิคและวิธีการต่างๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้านการเกษตร ในการเพิ่มปริมาณ และคุณภาพผลผลิต รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์สตอรว์เบอร์รีเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรค สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้สนับสนุนที่ดิน ภายในบริเวณโรงปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม จำนวน 14 หลัง ให้กับกลุ่มเกษตรกรทำสวนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างโรงเรือนดังกล่าว

โดยปีพุทธศักราช 2562 เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตร จากบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เข้าร่วมโครงการทดลองการผลิตสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม จำนวน 6 ราย โดยใช้พื้นที่ในโรงเรือน เพื่อทดลองเพาะปลูก จำนวน 10 หลัง และบริษัทฯ ใช้พื้นที่โรงเรือน จำนวน 4 หลัง เพื่อทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ได้ปรับปรุงสายพันธุ์

สำหรับโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม ออกแบบเป็นอาคารหลังคาโค้งคลุมพลาสติกแบบน็อคดาวน์ มีจำนวนทั้งหมด 14 บนที่ดิน 13 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยโดยรวม 5,376 ตารางเมตร งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 46,430,000 บาท (สี่สิบหกล้านสี่แสนสามหมื่นบาทถ้วน)

และโรงคัดบรรจุ สร้างตามมาตรฐาน GMP หรือการปฏิบัติการที่ดีในการผลิตอาหาร โดยอาคารถูกออกแบบตามสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่ได้นำรูปแบบอาคารบ้านเรือนภายในชุมชนโดยรอบมาเป็นแรงบันดาลใจ มีความเรียบง่ายและสะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น มีพื้นที่ใช้สอยโดยรวม 240 ตารางเมตร งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 17,660,000 บาท (สิบเจ็บล้านหกแสนหกหมื่นบาทถ้วน)