กรมชลฯวางแผนแก้น้ำหลากในพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก
กรมชลประทานวางแผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยจากความเห็นชอบของ กนช. พร้อมเดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท ชี้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบเพิ่มเติม อยู่ในระยะที่ 2 ผ่าน 3 จังหวัด นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี ระบุแล้วเสร็จปี 64
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลายปีบ่อยครั้งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 เห็นได้ชัดว่าปริมาณน้ำหลากมากกว่าศักยภาพการระบายน้ำที่มีอยู่ ซึ่งปริมาณน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปยังด้านท้ายน้ำ ความสามารถในการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา รวมกับการระบายผ่านคลองชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกบริเวณเหนือเขื่อนสามารถระบายน้ำได้รวมประมาณ 3,425 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ในปี 2554 ที่ผ่านมา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำประมาณ 5,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำล้นตลิ่ง เกิดมูลค่าความเสียหายตามพื้นที่ต่าง ๆ สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท และยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาคธุรกิจ
ฉะนั้นในปี 2555 จึงมีโครงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อระบายน้ำให้ไหลลงทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาปี 2560 กรมชลประทานได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยทั้งหมด 9 แผนงาน โดยมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งโครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเป็น แผนงานลำดับที่ 2 จาก 1 ใน 9 แผนงาน ซึ่งจะเพื่อช่วยระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยจากเดิมเป็น 930 ลบ.ม/วินาที สามารถช่วยบรรเทาปริมาณน้ำหลากพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ แผนงานลำดับที่ 2 นี้คือ แผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ประกอบไปด้วย โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท–ป่าสัก จังหวัดชัยนาท และ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก–อ่าวไทย ในปี 2562 ได้ดำเนินสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว จากประตูระบายน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ถึงประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะทาง 46.5 กิโลเมตร
โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจากเดิม 130 ลบ.ม/วินาที ให้เป็น 930 ลบ.ม./วินาที การออกแบบประกอบไปด้วย 1. คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ พร้อมอาคารประกอบ มีอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 1 แห่ง (ปตร.โคกกะเทียม) และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง (ปตร.เริงราง) 2. คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก พร้อมอาคารประกอบ มีอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 3 แห่ง และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง
“ในปี 2563 นี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินงานต่อในระยะที่ 2 แล้ว กรมชลประทานได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า FWTG JV ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเนอร์ จำกัด ให้สำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสักจังหวัดชัยนาท (เพิ่มเติม) ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ประตูระบายน้ำช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านจังหวัดลพบุรี จนถึงแม่น้ำป่าสักที่ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี รวมระยะทางประมาณ 88 กิโลเมตร”
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นับจากวันเริ่มปฏิบัติงาน โดยเซ็นสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เริ่มปฏิบัติงาน 21 พฤษภาคม 2563 และสิ้นสุดการปฏิบัติงาน 11 พฤศจิกายน 2564 แบ่งเป็น 2 งานหลักคือ งานสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ และงานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน เบื้องต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการในจังหวัดลพบุรี เพื่อฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมกว่า 151 คนแล้ว