มติ”ยุบ”กองทุน ทต.นาหว้า คืนเงินสมาชิก หลังพบผิดระเบียบเสียเอง ยอมรับไม่เคยเชิญสมาชิกประชุม โม้เป็นโครงการต้นแบบ
สืบเนื่องจาก นายสิทธิพงศ์ ไชยมงค์ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1,นายสมยศ วะชุม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2,สิบตรี จีระศักดิ์ ชาสงวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3,นางสาว พัชรี คำภูเงิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4,และ นายปัญญา ไชยมงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นแกนนำชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ นายทินกร ขันแก้ว นายอำเภอนาหว้า เพื่อขอให้ตรวจสอบกองทุนเงินออมวันละบาทของเทศบาลตำบลนาหว้า(ทต.นาหว้า) เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เกรงบริหารงานไม่โปร่งใส โดยมีการยื่นหนังสือพร้อมแนบรายชื่อสมาชิกกองทุนฯกว่า 200 ราย ณ ที่ว่าการอำเภอนาหว้า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
คืบหน้าล่าสุด จ่าเอก นิสสัน ไชยวรรณ ปลัดเทศบาลตำบลนาหว้า ปฏิบัติราชการแทนนายก ทต.นาหว้า ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ทต.นาหว้า เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการที่มีทั้งหมด 29 คน ณ ห้องประชุมชั้น 3 โดยมี นายทินกร ขันแก้ว นายอำเภอฯ นางสาว แสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม(พมจ.ฯ) เข้าร่วมรับฟังการรายงานชี้แจงรายรับ รายจ่าย จาก นางอธิภัทร ภมรสูตร ผู้อำนวยการกองคลัง ทำหน้าที่เหรัญญิกกองทุนฯ เปิดสมุดรายรับ รายจ่าย ตั้งแต่ปี 2554 แจงรายละเอียดโดยใช้เวลากับการนี้เกือบ 1 ชั่วโมง
ความตอนหนึ่งนางอธิภัทร ตำหนิกรรมการคือนายประยูร วะชุม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.นาหว้า ที่ไปให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่ากองทุนฯมีเงินคงเหลือเพียง 4,745 บาทนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะถึงขณะนี้กองทุนฯมีเงินอยู่ 3 ล้าน 6 แสนบาท ส่วนที่มีเงินคงเหลือสี่พันกว่าบาทนั้น เป็นบัญชีส่วนตัวของกรรมการคนหนึ่ง ที่หลังเก็บเงินรายปีจากสมาชิกแล้ว ได้นำเข้าบัญชีส่วนตัว โดยอ้างว่าเพื่อสะดวกในการเบิกจ่ายกรณีมีสมาชิกเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ภายหลังกรรมการคนนั้นได้นำบัญชีดังกล่าวมาส่งคืนตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากนั้นก็มีกรรมการผู้ทำหน้าที่เลขาฯ กล่าวว่าหลังประชุมคราวใด ได้ให้คณะกรรมการนำวาระการประชุมไปบอกแก่สมาชิกให้ทั่วถึงด้วย หรือออกเสียงตามสายในหมู่บ้าน แต่ไม่ทราบไปสื่อสารอย่างไรจึงเกิดปัญหาขึ้นได้ เหตุที่ไม่เชิญสมาชิกประชุมเลยตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนฯ เพราะเห็นว่าโครงการไปได้สวยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องประชุม
ขณะที่ จ.อ.นิสสัน ไชยวรรณ ประธานกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการฯนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบของหลายๆกองทุน ที่ทำงานกันอย่างโปร่งใส ตนเคยไปบรรยายเกี่ยวกับโครงสร้างกองทุนแห่งนี้ในหลายจังหวัด ทุกคนยอมรับว่าเป็นโครงการที่ดี เหตุที่มีปัญหาเพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ยอมรับว่ามีสมาชิกขอลาออกแล้วหลายร้อยคน ปัจจุบันมียอดคงเหลืออยู่ที่ 1,600 ราย ประธานกรรมการกองทุนฯ กล่าวต่อว่า เมื่อสมาชิกไม่ไว้วางใจแล้ว ก็จะขอมติในที่ประชุมเพื่อยุบกองทุนฯดังกล่าว อ้างเหตุผลว่าหลังเคลียร์ปัญหาทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ในเดือนมกราคม 2564 โดยกำหนดไว้ว่าหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จะคืนเงินแก่สมาชิกให้ครบทุกราย และอนุโลมสมาชิกที่ขาดส่งระหว่างปี 2562-63 ให้มีสิทธิรับเงินคืนด้วย
ด้านนายพศิน เฉลียวไว เลขาสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครพนม กล่าวชื่นชมกองทุนสวัสดิการฯ ว่า มีความเข้มแข็งและโปร่งใสมาก จึงฝากให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอให้ถูกต้อง การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เป็นการยุบกองทุน แต่เป็นการปรับปรุงโครงการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลนาหว้า เดิมมีชื่อว่ากองทุนออมวันละบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2554 โดยความร่วมมือจากคนในชุมชน ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน ในกรณี เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีกติกาให้สมาชิกจ่ายเงินเป็นรายปีคือ 365 บาท ขณะที่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม(พมจ.ฯ) สมทบช่วยอีกวันละ 1 บาท และเทศบาลตำบลนาหว้า(ทต.ฯ) เจ้าของโครงการควักสมทบอีกวันละ 1 บาทเช่นกัน เท่ากับว่าสมาชิกได้ออมวันละ 3 บาท จึงมีผู้สมัครเป็นสมาชิกในโครงการดังกล่าว ประมาณ 2,000 กว่าราย ปัญหาเกิดประมาณปี 2560 สมาชิกเริ่มไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการของคณะกรรมการ อีกทั้งไม่เคยเรียกประชุมสมาชิกแม้แต่ครั้งเดียว การแก้ไขระเบียบข้อบังคับสมาชิกไม่เคยรับทราบ จะรู้กันแต่ในกลุ่มคณะกรรมการเท่านั้น เมื่อยื่นขอลาออกจากการเป็นสมาชิก ก็ยินยอมให้ออกแต่จะไม่ได้เงินคืน จึงทำให้สมาชิกเชื่อว่าการเงินของกองทุนฯมีปัญหา แม้คณะกรรมการจะอ้างอย่างไรก็ไม่มีใครไหนฟัง แหล่งข่าวเผยว่าคณะกรรมการพูดเอาแต่ได้ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ให้ไปอ่านระเบียบ แต่ตรงกันข้ามกรรมการบางคนกระทำผิดระเบียบ เอาเงินสมาชิกเข้าบัญชีตนเองกลับชื่นชมว่าเป็นการบริการความรวดเร็วให้สมาชิก และการไม่เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปีนั้นถูกต้องหรือไม่
เทพพนม รายงาน