เจ้าคณะจังหวัด ธรรมยุต ประชุมติดตามหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธฯ
หลังพบพระอาพาธด้วยโรคเรื้อรัง รณรงค์โยมควรถวายภัตตาหารที่ห่างไกลโรค
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.30 น. ณ. ห้องประชุมวัดศรีเทพประดิษฐาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม ได้จัดประชุมติดตามและหนุนเสริมการดำเนินการพัฒนากลไก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ และพัฒนาขีดความสามารถพระสงฆ์กับการเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ประจำภาคอีสาน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีพระสงฆ์จากวัดต่างๆ ทั้งมหานิกายและธรรมยุตเข้าร่วมประชุม จำนวน 30 รูป
ในการนี้ได้รับความเมตตาจากพระศรีวิสุทธินายก (โดม ปญฺญาธโร ป.ธ.9) เจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธรรมยุต)/เจ้าอาวาสวัดศรีเทพฯ เป็นประธานเปิดการประชุมฯโดยได้กล่าวอนุโมทนาชื่นชมคณะทำงานฯที่ได้ร่วมกันดำเนินการพัฒนากลไกศูนย์ประสานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธเพื่อดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์และสุขภาวะของชุมชน
ในครั้งนี้เป็นการติดตามและให้กำลังใจคณะทำงานโครงการฯ โดยดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้มีองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มการรับรู้และเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจัดทำโครงการของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของพระภิกษุและสามเณรตลอดจนประชาชนในพื้นที่
ซึ่งพระครูสุธีวีรวงศ์ รองเจ้าอาวาสวัดศรีเทพฯ ได้รายงานผลการดำเนินการของศูนย์ฯว่าได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ และจัดทำแผนปฏิบัติการดำเนินงาน โดยเบื้องต้นได้มีการดำเนินการจัดอบรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพระภิกษุสามเณรให้เหมาะสมในการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกันโรคโดยเน้นหลัก 3 อ. 2 ส.และมีการสำรวจสิทธิหลักประกันสุขภาพของพระภิกษุสามเณรในพื้นที่ และมีการวางแผนในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของพระภิกษุสามเณรต่อไป
ด้าน พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ในฐานะคณะทำงานโครงการฯ ได้นำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการ โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ที่เป็นกรอบสำคัญในการดำเนินการทั้ง 3 เป้าหมายสำคัญ คือ พระสงฆ์ดูแลตนเอง และกันเองตามพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมดูแลอุปัฎฐากพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในฐานะเป็นผู้นำสุขภาวะในชุมชนและสังคม
ในส่วนของพระครูศรีปริยัติการ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม ได้รายงานผลการดำเนินงานในส่วนของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ว่าได้ดำเนินการตามนโยบายของโครงการและหวังจะนำไปสื่อสารขยายผลการดำเนินการให้มากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์และชุมชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นได้เปิดเวทีให้มีการนำเสนอแนะในการบริหารจัดการ และประเด็นที่เป็นแนวทางในการขยายผลและผลักดันให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ระดับอำเภอ เช่น การกำหนดประเด็นพัฒนาที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) การพัฒนาขีดความสามารถพระสงฆ์ เข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่เพื่อส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของพระสงฆ์และชุมชน
โดยอาจจะมีการขยายผลในจังหวัดให้ครอบคลุมทั้ง 3 Setting คือ ทั้งที่ตั้งอยู่ในวัด โรงเรียนพระปริยัติธรรม และสถาบันการศึกษาสงฆ์ ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบหลักประกันฯ ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ในฐานะกลไกศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ ที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรสุขภาวะ สู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ต่อไป สืบเนื่องจากในปัจจุบัน พบว่ามีพระสงฆ์จำนวนมากทั่วประเทศ มีอาการอาพาธด้วยโรคเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และระบบหัวใจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ประชุมกำหนดอนาคต “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” มุ่งขับเคลื่อนพระเป็นผู้นำด้านสุขภาพให้ชุมชน-สังคม ควบคู่พัฒนาวัดต้นแบบ 5,000 วัด ตามเป้า เดินหน้าสร้างระบบฐานข้อมูลสิทธิรักษาพยาบาลพระ-สามเณร ปรับทิศทางให้สอดรับแผนปฏิรูปพระพุทธศาสนา
โดยมีข้อเสนอแนะออกมาว่า ควรมีการรณรงค์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนถวายภัตตาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อลดภาวะเสี่ยงในการเกิดโรค หรือพระภิกษุสงฆ์ที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับภัตตาหารที่เหมาะสมเฉพาะโรค,ควรมีการพัฒนารูปแบบวิธีการดูแลส่งเสริมสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ เช่น กิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองมากยิ่งขึ้น,ควรสร้างจิตสานึกแก่พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน วัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกันดูแลสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์แบบองค์รวมให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และ ควรมีการประสานการความร่วมมือกันอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดบริการเชิงรุกการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมและมีสุขภาพดียิ่งขึ้น
เทพพนมรายงาน