“มกอช.” ปลื้มหนัก “โครงการQ Canteen” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ฉลุย
“มกอช.” ปลื้มหนัก “โครงการ Q Canteen” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ฉลุย โรงเรียนเอกชนตื่นตัวตอบรับกระแสอาหารปลอดภัยแห่เข้าร่วมแล้ว 16 แห่ง ส่วนปี 64 วางเป้ามุ่งขยายผลเพิ่มทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล เชื่อมั่นช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทยเทียบเท่าสากล พร้อมเล็งขยายช่องทางตลาดสินค้าเกษตรมาตรฐาน จับคู่แมทชิ่งทางธุรกิจระหว่างโรงเรียน-เกษตรกร-ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มช่องทางรายได้เกษตรกรไทย
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดย นายกฤษ อุตตมะเวทิน เลขานุการกรม ในฐานะรองโฆษก มกอช. กล่าวถึงผลดำเนินงานในการนำร่องขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายโครงการโรงอาหารปลอดภัยในโรงเรียน (Q Canteen)ในปี 2563 ที่ผ่านมาว่า แม้ประเทศไทยจะประสบปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ในทางกลับกันยิ่งทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองมีความตื่นตัวและเห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาพของบุตรหลานโดยการเลือกบริโภคอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมามีโรงเรียนเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ Q Canteenระยะนำร่องแล้วจำนวน 16 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวทางมกอช.ได้ประเมินและคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนประสาทวิทยานนทบุรี อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยา ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และโรงเรียนสมาคมสตรีไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนเครือข่ายนำร่องที่มีความเข้มแข็งในการดำเนินงาน เช่น โรงเรียนบีคอนเฮาส์แย้มสะอาดรังสิต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังจากนี้ทางมกอช.จะทำการประเมินและทดสอบโรงเรียนเครือข่ายนำร่องทั้ง 16 แห่ง ยกระดับเป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารปลอดภัยที่เข้มแข็งเพื่อนำไปขยายผลครอบคลุมโรงเรียนเอกชน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และเตรียมความพร้อมไปสู่ทั่วประเทศในระยะต่อไป โดยล่าสุดได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โครงการ Q Canteen แก่ผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน 90 แห่ง และได้รับความสนใจตอบรับเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนอาหารปลอดภัยเป็นอย่างดี
นายกฤษ ยังได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสร้างเครือข่ายโครงการQ Canteen ด้วยว่าหลังจากได้โรงเรียนเอกชนนำร่อง 16 แห่งในปี 2563แล้ว จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกในระดับต้นแบบโดยเจ้าหน้าที่ยินดีเข้าร่วมการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP ตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงคัดบรรจุภายใต้มาตรฐานGMP และการจัดส่งภายใต้การควบคุมคุณภาพ ไปยังศูนย์รวบรวมขนส่งสินค้าก่อนที่จะกระจายสู่ปลายทางคือโรงอาหารในโรงเรียน เพื่อนำวัตถุดิบคุณภาพมาตรฐาน GAP มาปรุงอาหารให้นักเรียนรับประทาน ซึ่งตลอดห่วงโซ่อุปทานผ่านการควบคุมมาตรฐานทั้งหมด สำหรับเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารในโรงอาหารในสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว ไข่ ไก่ ผัก ปลา และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ มกอช.ยังได้สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหารศึกษาภายใต้หลักสูตรมินิ GAP ในโรงเรียนอีกด้วย เพื่อให้นักเรียน และบุคลากรของโรงเรียนมีความตระหนักรู้และมีความเข้าใจในเรื่องการผลิตและการบริโภคอาหาร ที่ปลอดภัย โดยปรับการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับกับมาตรฐาน GAPให้เด็กเข้าใจในรูปแบบง่ายๆเพื่อจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ส่วนภาคปฏิบัติก็จะสอนให้เด็กปลูกผักในหลุมถาด หรือแปลงเกษตรในโรงเรียน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกที่ได้มาตรฐานปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ส่วนขั้นตอนที่ 2 คือ การนำโรงเรียนต้นแบบที่ได้นำไปขยายผลในวงกว้างต่อไปเพื่อสร้างสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงแบบยั่งยืนกับเด็กไทยต่อไป
“ประโยชน์ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Q Canteen หลักๆคือช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชน สร้างการตระหนักรู้ด้านอาหารปลอดภัยผ่านไปยังครอบครัว และปลูกฝังการเป็นผู้บริโภคอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน ทำให้นักเรียนมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงจากการบริโภคอาหารปลอดภัยหรืออาหารที่ไร้สารตกค้าง หรือไร้สารปนเปื้อนอื่นๆ ในขณะที่โรงเรียนเองก็จะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง ซึ่งมองว่านอกจากโรงเรียนจะเป็นผู้นำด้านวิชาการแล้ว ยังมีจุดเสริมที่สำคัญคือการให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของนักเรียนอีกด้วย รวมทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาลที่ดีของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของโรงเรียนให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นช่วยการสร้างตลาดสินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP สินค้าเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารอีกทางหนึ่งด้วย ” นายกฤษ กล่าว
นายกฤษ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในอนาคตมกอช.ยังมีแผนขยายผลโครงการ ด้วยการจับคู่หรือแมทชิ่งทางธุรกิจ (Business Matching Online) ระหว่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Q Canteen กับฟาร์มเกษตรกรที่อยู่ภายใต้มาตรฐาน GAP หรือร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารภายใต้มาตรฐาน Q เพื่อเปิดให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีโอกาสเจรจาธุรกิจ ติดต่อซื้อขายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และตรงตามความต้องการของโรงเรียนอีกด้วย