“เฉลิมชัย “นำทีมผู้บริหาร กษ. ติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ ช่วยชาวพังงา แก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

“เฉลิมชัย “นำทีมผู้บริหาร กษ. ติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่

ช่วยชาวพังงา แก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ พร้อมด้วยนายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ ณ ศาลาอเนกประสงค์เทศบาลตำบลลำแก่น จังหวัดพังงา

โดยนายเฉลิมชัยกล่าวว่าเนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดพังงาไม่มีอ่างเก็บน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่บ่อยครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายกรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยมีแผนการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชน ซึ่ง ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดพังงามีโครงการชลประทานอยู่กว่า 160 โครงการ รวมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 60,000 ไร่ ประกอบด้วย ฝายทดน้ำ 7 แห่ง อาคารอัดน้ำ 3 แห่ง โครงการชลประทานขนาดเล็ก 148 โครงการ และฝายทดน้ำ 5 แห่ง

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ตั้งอยู่ในพื้นที่ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา มีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type) สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 322 เมตร สูง 37 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 5.6 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับโครงการฝายคลองลำไตรมาศเดิม และมีพื้นที่ชลประทานรวมกว่า 5,800 ไร่ สามารถสนับสนุนน้ำทั้งทางด้านการอุปโภคบริโภค และด้านการเกษตรให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอทับปุดและพื้นที่ใกล้เคียง

ในส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type) สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ยาว 350 เมตร สูง 40 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12.78 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงาน หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้กับประชาชนในเขตชลประทานในพื้นที่ตำบลลำแก่นได้กว่า 1,200 ไร่ และยังสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในกับประชาชนในพื้นที่อำเภอท้ายเหมืองและอำเภอตะกั่วป่าได้กว่า 5,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

สำหรับ”การลงพื้นที่ในวันนี้ มุ่งมั่นที่จะเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาให้กับพี่น้องชาวพังงา ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาทั้งในเรื่องการมีน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรได้ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจังหวัดพังงาเองมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำทั้งภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว จึงมุ่งหวังว่าการมาทำประโยชน์ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้จังหวัดพังงาสามารถพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเน้นย้ำให้คำนึงถึงการมีส่วนความของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะเข้ามาดูแลพี่น้องเกษตรกรในทุกพื้นที่ ต้องมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน และพร้อมที่จะเข้ามาพัฒนาทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ภาคใต้ที่เกษตรกรมีอาชีพหลักคือการปลูกยางพาราและปาล์ม จึงยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ราคายางพาราสูงขึ้นแบบมีเสถียรภาพตามความเป็นจริง จึงยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมเดินหน้าเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและเกิดความสันติต่อไป

 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งมอบปลากะพงขาว ขนาด 3 นิ้ว จำนวน 3,000 ตัว ให้กลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้าน 5 ชุมชน ในอำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วทุ่ง นำไปปล่อยในแหล่งน้ำหน้าชุมชนเพื่อเพิ่มทรัพยากรพันธุ์ปลากะพงขาวในธรรมชาติ และมอบเมล็ดพันธุ์ผักในโครงการตู้เย็นข้างบ้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้ลงทะเบียนแล้วของจังหวัดพังงา จำนวนกว่า 2,000 ราย