รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการศึกษาวางโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยคลองชุมพร
วันนี้ (30 ตุลาคม 2563) นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ลงพื้นที่เพื่อ ติดตามผลจากการศึกษาวางโครงการ สำรวจ ออกแบบ การแก้ปัญหาอุทกภัยคลองชุมพร ของเมืองชุมพรช่วงถนนแยกปฐมพรทางหลวงสาย 41 เส้นทางเศรษฐกิจลงสู่ภาคใต้
เนื่องจากบริเวณอำเภอเมืองชุมพร เกิดน้ำท่วมหลากจากลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่ คลองท่าตะเภาและคลองชุมพร พื้นที่น้ำท่วม 12 ตําบล 79,500 ไร่ กรมชลประทานจึงดำเนินการศึกษาวางโครงการ สำรวจ ออกแบบโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ลุ่มน้ำคลองชุมพร) แบ่งแผนงานโครงการออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ปี 2558- 2562 คือเป็นการดำเนินการ งานขุดคลองผันน้ำช่วงคลองนาคราช ระยะทาง 4.720 กิโลเมตร และงานขุดขยายคลองชุมพรช่วงปลายบริเวณเหนือประตูระบายน้ำตอนล่างให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนระยะที่ 2 ปี 2563-2564 งานขุดคลองผันน้ำใหม่เชื่อมคลองชุมพร – คลองนาคราช ให้สามารถ ระบายน้ำได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะทาง 3.343 กิโลเมตร. งานขุดขยายคลองชุมพรช่วงปลาย ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำตอนล่างถึงสะพานทุ่งคา ให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งานก่อสร้างประตูควบคุมบังคับน้ำ จำนวน 4 แห่ง พร้อมอาคารประกอบ และอาคารระบายน้ำ และงานขุดขยายคลองชุมพรเดิม ช่วงบนให้สามารถระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับประโยชน์จากโครงการฯ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ชุมชนตอนล่างของอําเภอเมือง จํานวน 6 ตําบล ลดพื้นที่น้ำท่วม 37,500 ไร่ ช่วยเหลือราษฎร 16,802 ครัวเรือน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสายเอเชีย 41 แยกปฐมพรได้ พร้อมกับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ได้ 6.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 6,875 ไร่ อีกทั้งยังช่วยป้องกันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำพื้นที่เมืองชุมพร ซึ่งจะเป็นการลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรได้อีกด้วย