รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่สระแก้ว ตรวจน้ำท่วมในพื้นที่สระแก้ว ส่วนบางพื้นที่น้ำลดลง บางพื้นที่ยังทรงตัว
เช้าวันนี้นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่อำเภอเมือง สระแก้ว โดยมี นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ ผอ.โครงการชลประทานสระแก้ว นำเจ้าหน้าที่ชลประทาน พร้อมปลัดอำเภอเมืองสระแก้ว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้การต้อนรับ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำของพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ฟังการบรรยายสรุปรายงานของนายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ ผอ.โครงการชลประทานสระแก้วแล้ว ก็มีความห่วงใยในสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว และได้สั่งการให้ชลประทานสระแก้ว ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทางท่านอธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้ ผมในฐานะ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว และคณะเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้เดินทางไปยังบริเวณสถานีวัดน้ำ บริเวณสะพานร่วมความสามัคคีแก่งสีเสียด ตำบลสระขวัญ อำเภอเมือง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และผลกระทบในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ซึ่งกรมชลประทาน ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 4 เครื่อง เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง มาหลายวันแล้ว เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำให้เดินทางได้เร็วขึ้น คาดว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่จะดีขึ้นภายใน 5 วันพร้อมทั้งได้เดินทางไปยังบริเวณชุมชน หมู่ที่ 6 ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมือง เพื่อพบปะพูดคุยให้กำลังใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และร่วมแจกจ่ายถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการชลประทานสระแก้ว พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำภาพรวมในจังหวัดสระแก้ว แนวทางการให้การช่วยเหลือของกรมชลประทาน รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆในระยะยาว ซึ่งจะส่งเสริมความเป็นอยู่ประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับผลมวลน้ำที่มาจากจังหวัดสระแก้ว นั้นคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะลดลงภายใน 3-4วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและพายุที่จะมีอิทธิพลในช่วง 25 -26 ตุลาคม 2563 ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานจึงได้มีมาตรการในการหน่วงน้ำให้มากที่สุด เพื่อชะลอการไหลของน้ำยังพื้นที่และลดผลกระทบกับพื้นที่ชุมชนริมตลิ่ง และเตรียมพร้อมเครื่องมือในช่วยเหลือให้ทันท่วงที จึงสามารถมั่นใจได้ว่าระดับน้ำจะมีความคงที่ไม่ขึ้นสูง ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีแนวทางการศึกษาการสร้างแก้มลิงในพื้นที่รับน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและลดผลกระทบจากอุทกภัยในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน