เกษตรฯ เผย “เอฟเอโอ” ชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทย
เปิดตัวโครงการหมอดินโลก ใช้โมเดลหมอดินไทยเป็นต้นแบบ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเอดัวร์โด แมนซูร์(Eduardo Mansur)ผู้อำนวยการด้านดิน น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO )ได้แสดงความชื่นชมในความสำเร็จของประเทศไทย และยังแสดงความขอบคุณต่อกรมพัฒนาที่ดินในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินโครงการหมอดินของไทยจนนำไปสู่โครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) และFAO ยังได้นำชุดทดสอบดินที่พัฒนาโดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ศูนย์AICกรุงเทพมหานคร) และเอกสารการถ่ายทอดความรู้ด้านดินของกรมพัฒนาที่ดินเป็นต้นแบบในการขยายโครงการหมอดินโลกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่อไป
ทั้งนี้เป็นรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 กรณีที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ สมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership หรือ GSP) ได้จัดงานเปิดตัวโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) โดย FAO ได้นำประสบการณ์และความสำเร็จของ “โครงการหมอดินอาสา” ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปขยายโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 600 คนจากทั่วโลก
นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP และประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security หรือ CFS) ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการหมอดิน กับความมั่นคงอาหารและเกษตรยั่งยืน โดย หมอดินอาสา มีบทบาทที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านดินแก่พี่น้องเกษตรกร องค์ความรู้ของหมอดินเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีหมอดินอาสาจำนวนกว่า 80,000 คน ทั่วประเทศ หมอดินอาสาทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้ด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินเบื้องต้น การเก็บตัวอย่างดิน และช่วยสำรวจจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านคุณภาพดินในระดับหมู่บ้าน
หมอดินอาสา คือ ครูและเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร การเรียนรู้จากประสบการณ์จากเกษตรกรด้วยกันเอง (Farmer-to-farmer learning) ทำให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในพื้นที่ หมอดินอาสาของไทยยังได้เรียนรู้ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรในพื้นที่ของตนจนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้ ดร.บรรเจิดลักษณ์ จินตฤทธิ์ เป็นผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอผลความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาในหัวข้อ “ประสบการณ์ความสำเร็จของหมอดินอาสาไทย” และได้เล่าถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหมอดินเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการและปัจจัยการผลิตที่สำคัญแก่เกษตรกร พร้อมได้นำเสนอวิดีทัศน์ผลความสำเร็จของหมอดินอาสาของไทย นายยวง เขียวนิลให้แก่ประเทศสมาชิกและผู้ร่วมประชุมได้ร่วมรับทราบข้อมูล
สำหรับโครงการ Global Soil Doctors Programme นี้ FAO เป็นกิจกรรมที่เป็นต้นแบบที่ดี (Best practice) ในการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาดินในภาคเกษตร สามารถสร้างผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ในการจัดการทรัพยากรดินสู่ความยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร โดย FAO ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมศึกษาดูงานการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาของประเทศไทย พร้อมทั้งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและการเกษตรที่ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรไปศึกษาและแปลเพื่อจัดทำเป็นเครื่องมือและคู่มือสำหรับเกษตรกร อีกทั้งขยายผลโครงการเป็นเครือข่ายหมอดินระดับโลก เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เรียนรู้แลกเปลี่ยน และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ
นายอลงกรณ์กล่าวว่า นี่เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้การยกย่องการบริหารจัดการดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้โครงการหมอดินอาสาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆทั่วโลกและดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.ได้ใช้นโยบายเกษตร4.0และเกษตรกรรมยั่งยืนยกระดับอัพเกรดระบบAgimapโดยร่วมกับสวทช.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดินโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหลังจากที่ก่อนหน้านี้สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ถวายเหรียญ นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และได้เสนอให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก ผ่านทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ ( United Nations- UN)