นักวิจัยจัดทัพรับ 3 รางวัลเลิศรัฐจากสำนักงาน ก.พ.ร.

นักวิจัยจัดทัพรับ 3 รางวัลเลิศรัฐจากสำนักงาน ก.พ.ร.

กรมวิชาการเกษตร ผงาดกวาด 3 รางวัลเลิศรัฐประจำปี 2563 จากสำนักงาน ก.พ.ร. ประเภทนวัตกรรม  พัฒนาบริการ  และประชาชนมีส่วนร่วม  ชูจุดเด่น 3 ผลงานชนะใจกรรมการ ช่วยลดต้นทุนการผลิต  สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร  และลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน 

นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  รางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศประจำปีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้แก่หน่วยงานรัฐที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประความสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐ  โดยมี 3 สาขารางวัล คือ สาขาบริการภาครัฐ  สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ  และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม  โดยในปี 2563 นี้ผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐมาได้ถึง 3 รางวัล ดังนี้

ผลงานวิจัย“พืชผักปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงด้วยนวัตกรรมชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอย”ของสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ  ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ผลงานวิจัยนี้ได้วิจัยค้นหาไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยนำมาพัฒนาเป็นชีวภัณฑ์โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้นวัตกรรมการผลิตในรูปแบบที่เกษตรกรสามารถทำใช้เองได้  มีกระบวนการเพาะเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ   และเป็นชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชที่มีความปลอดภัยมีประสิทธิภาพเทียบได้กับสายพันธุ์ต่างประเทศ  มีศักยภาพในการกำจัดแมลงศัตรูผักหลายชนิด  สามารถนำไปใช้ลดหรือทดแทนสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและวิธีการใช้สู่เกษตรกรต้นแบบในชุมชนผลิตพืชปลอดภัยทำให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้  ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลงในระบบการผลิตพืชได้ถึง 50-100 %

ผลงานวิจัย “นวัตกรรมการตรวจพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่จำเพาะแบบ 3 ยีนในการทดสอบเดียวกัน”ของ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ  ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ  ผลงานวิจัยนี้ได้พัฒนาวิธีการให้บริการตรวจวิเคราะห์สินค้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อตรวจและรับรองสินค้านำเข้า ส่งออก และเฝ้าระวังการปะปนในประเทศ  จากกระบวนการตรวจสอบเดิมที่มีความยุ่งยากและมีขั้นตอนซ้ำซ้อน   โดยได้คิดค้นนวัตกรรม “การตรวจยีนที่จำเพาะแบบ 3 ยีนในการทดสอบเดียวกัน  ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการตรวจวิเคราะห์คัดกรองยีน  เนื่องจากไม่เคยมีการตรวจคัดกรอง 3 ยีนในขั้นตอนเดียวกันมาก่อน   โดยวิธีตรวจวิเคราะห์ทำปฏิกิริยาขั้นตอนเดียว มีความถูกต้อง แม่นยำ สามารถตรวจวิเคราะห์พืชดัดแปลงพันธุกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีเดิม  ลดขั้นตอนและระยะเวลาการทดสอบจนถึงการออกใบรายงานผลการทดสอบจากเดิม 12 วันเหลือเพียง 7 วัน   ซึ่งวิธีการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวได้รับการยอมรับจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ชั้นนำของโลก

 

ผลงานวิจัย “ยกระดับถั่วหลังนาประชารัฐสู่กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองหนองวัวซอ” ของกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช  ได้รับรางวัลสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม  ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม  ของกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช  การดำเนินการ “โครงการถั่วเหลืองหลังนาประชารัฐมั่นคง หนองวัวซอ” มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนเมล็ดถั่วเหลืองพันธุ์ดีให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของประเทศ  โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ  ประชาชน และเอกชน สร้างและพัฒนาแกนนำเกษตรกรอาสาปลูกถั่วเหลืองเพื่อผลิตเมล็ดและเมล็ดพันธุ์ให้เกิดความยั่งยืนในรูปแบบประชารัฐ   โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

จากผลการดำเนินการเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นจากเดิม 145 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 245 กิโลกรัม/ไร่  และเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกในฤดูถัดไปได้ช่วยลดต้นทุนการซื้อเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรจำนวน 47,000 บาท  รวมทั้งเกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายถั่วเหลืองเป็นเมล็ดพันธุ์   สามารถเพิ่มพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองฤดูแล้งจากปี 2561 จำนวน 88 ไร่เป็น 200 ไร่ในปี 2563

     “รางวัลเลิศรัฐที่กรมวิชาการเกษตรได้รับจากสำนักงาน ก.พ.ร.ทั้ง 3 รางวัลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของนักวิจัยกรมวิชาการเกษตรที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์พัฒนาผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายต่อไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กร “ซื่อสัตย์  โปร่งใส  งานวิจัยมีคุณภาพ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว