กสอ. สรุปนโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ช่วยแล้ว กว่า 4,300 กิจการ สร้างงานบัณฑิตจบใหม่ คนว่างงานกว่า 10,000 คน
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สรุปผลการดำเนินงานฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย สามารถช่วยเหลืออุตสาหกรรมไทยได้ ดังนี้ 1. สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 4,300 กิจการ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2. ส่งเสริม 11 วิสาหกิจชุมชน ให้เป็น CIV 5 ดาว พร้อมรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต 3. ยกระดับธุรกิจเกษตรเป็นเกษตรอุตสาหกรรม กว่า 100 กิจการ เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ 100 ผลิตภัณฑ์ และ 4. สร้างอาชีพให้กับแรงงาน บัณฑิตจบใหม่ รวมทั้งคนว่างงานกว่า 10,000 คน รวมคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2563 ยังเตรียมยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็น อุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจในไทย
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จาก “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ระหว่างเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน 2563 ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนโดยนำงบประมาณในกิจกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2563 กว่า 150 ล้านบาท มาขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบกว่า 4,300 กิจการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยพยุงให้ตัวเลขการเติบโตของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) กลับมาอยู่ในแดนบวกโดยเร็ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถฟื้นฟูได้กว่า 4,200 กิจการ มีผู้สนใจร่วมอบรมออนไลน์กว่า 100,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,100 ล้านบาท โดยรายละเอียดของการฟื้นฟู เกิดจากการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนและการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรองรับความเป็นปกติใหม่ หรือ
นิวนอร์มอล (New Normal) อาทิ การขยายสู่ตลาดออนไลน์ การปรับไลน์การผลิต และการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการด้านสาธารณะสุขที่เพิ่มสูงขึ้น การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบการ MedChic ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 20 กิจการ การต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ สามารถพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จำนวน 11 ต้นแบบ - ประชาชน แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ และคนว่างงาน สามารถส่งเสริมให้เกิดการมีงานทำรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท ผ่านการปรับ-เพิ่ม-สร้างทักษะใหม่ (Reskill-Upskill-New Skill) การสนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะทาง เพื่อการทำงาน ณ ภูมิลำเนา รวมทั้งการส่งเสริมองค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาคนว่างงานให้เป็นผู้ประกอบการ รูปธรรมของการฟื้นฟูจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นชัดเจนที่ชุมชนห้วยยายจิ๋ว จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการส่งเสริมให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของโควิด-19 กว่า 40 คน มีงานทำทั้งหมด สร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ลดรายจ่ายจากเดิมที่ต้องแบกรับภาระค่าที่พักและค่าเดินทาง รวมกว่า 12,000 บาทต่อเดือน
- ชุมชน / วิสาหกิจชุมชน สามารถฟื้นฟูวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า 11 ชุมชน เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาชุมชนผ่านการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับทีมนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ลงพื้นที่จริง เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการท่องเที่ยว ยกระดับการบริหารจัดการ อาทิ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village) หรือ หมู่บ้าน CIV 5 ดาว ชุมชนบางคล้า ที่ได้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา เข้ามาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งนำเสนออัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และกระตุ้นการจ้างงานของคนในพื้นที่
- เกษตรกร / ธุรกิจเกษตร สามารถพัฒนาธุรกิจเกษตรได้กว่า 100 กิจการ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ท้องตลาดกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูผ่านกระบวนการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจยกระดับให้เป็น เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเชิงเดี่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาตรฐานและทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์มาดามแมงโก้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปอบแห้ง ให้มีองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวางแผนทำการตลาด ซึ่งทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในช่วงผลผลิตล้นตลาด ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วง โดยมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center) หรือ ศูนย์ ITC 4.0 ในการจัดหาเครื่องจักรกลที่เหมาะสม ทำให้สามารถดำเนินดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟื้นฟูเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมาย เป็นเพียงมาตรการเพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทว่า การส่งเสริมเพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ที่ทุกกิจการต้องเร่งปรับตัว ทั้งเพื่อการสร้างมาตรฐานให้กับกระบวนการผลิต อันจะส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งเพื่อการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอุตสาหกรรม สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในไทย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค และ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ ICT4.0 ทั่วประเทศ
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th