การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่งมอบโครงการ PEA LED ระบบไฟฟ้าส่องสว่างด้วยหลอด LED เพื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง บ้านศรีบุญเรือง หมู่ 11 ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายสมลักษณ์ กิ่งมาลา รองผู้ว่าการไฟฟ้าภาค 2 เป็นประธานพิธีส่งมอบโครงการ PEA LED ระบบไฟฟ้าส่องสว่างด้วยหลอด LED เพื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย โดยมีท่านพระครูวินัยธรวิวัฒน์ ญาณวัฑฒโน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุน้อยศรีบุญเรือง รับมอบในนามวัดพระธาตุน้อยศรีบุญเรือง มีนายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายวริษฐ์ รัชตเมธี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี นายพิพจน์เดช เลิศพสุโชค ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครพนม พร้อมคณะผู้บริหาร PEA หัวหน้าหน่วยงาน และประชาชนร่วมในพิธี
สืบเนื่องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมและสนับสนุนการประหยัดพลังงาน ความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน ได้เล็งเห็นคุณค่าของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จึงจัดทำโครงการ PEA LED เพื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย” ให้การสนับสนุนโบราณสถานซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศ โดยสนับสนุนการติดตั้งหลอดประหยัดพลังงานชนิด LED มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 7 ปี ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 40 แห่ง รวมถึงวัดธาตุน้อยศรีบุญเรืองแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยติดตั้งหลอดประหยัดพลังงานชนิด LED เพื่อใช้เป็นไฟส่องสว่างในโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า และค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน สร้างความสวยงามในเวลากลางคืนให้กับองค์พระธาตุ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วประเทศ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
พระธาตุน้อยศรีบุญเรือง ณ วัดธาตุน้อยศรีบุญเรืองแห่งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้าและเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นหลอดประหยัดพลังงาน LED จำนวน 65 ดวงโคม ติดตั้งพาดสายชนิดต่างๆ ระยะทางรวมประมาณ 990 เมตร เป็นเงินทั้งสิ้น 1,153,337.71 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นสามพันสามร้อยสามสิบเจ็ดบาทเจ็ดสิบเอ็ดสตางค์) สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 21,844.896 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (สองหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยสี่สิบสี่จุดแปดเก้าหกกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี) โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 รวมระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน
ประวัติพระธาตุน้อยศรีบุญเรือง สร้างขึ้นเพื่อจะขอแบ่งพระอุรังคธาคุที่พระมหากัสสปะเถระเป็นผู้อัญเชิญมาจากชมพูทวีปเพื่อมาประดิษฐานที่ภูกำพร้า แต่ว่าไม่สามารถจะแบ่งพระอุรังคาตุให้ได้ พระมหากัสสปะเถระจึงได้เหาะกลับไปอัญเชิญพระอังคารของพระพุทธเจ้าแบ่งมาให้แทน โดยสร้างขึ้นในสมัยพระยานันทเสน ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเมืองศรีโคตรบูร เดิมตั้งดินแดนที่ใต้ปากเซบั้งไฟ ประเทศลาว ต่อมาหลังจากพระยานันทเสนทิวงคตได้เกิดโรคระบาดจึงได้ย้ายเมืองมาตั้งเหนือพระธาตุพนมในดงไม้รวก จึงขนานนามเมืองขึ้นว่า มรุกขนคร แล้วได้มีการสร้างพระธาตุน้อยเกิดขึ้นเพื่อบรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระธาตุบริวารขององค์พระธาตุพนมโดยมีกษัตริย์ที่ปกครองเมืองมรุกขนคร รายนามดังนี้ 1.พระยามรุกขนคร พระอนุชาของพระยานันทเสน โอรสของพระนางเทวบุปผา 2.พระยาสุมิตตธรรมวงศา โอรสพระยามรุกขนคร เป็นผู้มีบุญญาธิการบารมีมาก มีแคว้นเล็กแคว้นน้อยส่งบรรณาการมาเจริญสัมพันธไมตรี และเป็นผู้ร่วมมือกับพระอรหันต์ 5 องค์สร้างเสริมพระธาตุพนมให้สูงขึ้นและบรรจุพระบรมธาตุอีก เริ่มสละคนให้เป็นข้าโอกาสพระธาตุพนมถึง 3,000 ครัว พร้อมด้วยเครื่องใช้สอย อุทิศบ้าน 7 บ้าน ให้เป็นข้าพระมหาธาตุแล้วได้เสด็จไปครองเมืองร้อยเอ็ดประตู สิ้นพระชนม์ที่นั้น 3.พระยาสุมินทราช 4.พระยาทุฐคามณี
และ 5.กษัตริย์เมืองมรุกขนคร คือ พระยานิรุฏฐราช ท่านผู้นี้เป็นองค์สุดท้ายมีจิตใจกระด่างกระเดื่อง ไม่เลื่อมใสในคุณแก้ว 3 ประการ รื้อถอนบ้านส่วยพระบรมธาตุ และประพฤติพระองค์ไม่ชอบหลายอย่าง บ้านเมืองจึงเกิดวิบัติล่มร้างเป็นบึงและป่า ซึ่งได้แก่บริเวณธาตุน้อยศรีบุญเรือง บึงกอง บึงขี้เหล็ก บึงน้อย ตำบลพระกลางทุ่ง ห่างพระธาตุพนมราว 5-8 กิโลเมตร (เพราะมีซากเมืองวัดโบสถ์หลายแห่งตามบริเวณนั้นสันนิษฐานว่าพระธาตุน้อยศรีบุญเรืองก็น่าจะพังในสมัยนี้)
และอีกข้อสันนิษฐานตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เล่าเอาไว้ว่า พระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนคร ได้ปล่อยช้างลงมาหากินและได้ชนเอาพระธาตุน้อยประกอบกับเกิดฝนตกหนักจึงทำให้พระธาตุน้อยล้มลงมาทางทิศตะวันออก โดยยอดของพระธาตุน้อยได้ล่มข้ามถนนในปัจจุบันมาถึงเขตที่ดินของนางบุญ รามางกูร และเศษอิฐดังกล่าวได้รวบรวมไว้ที่กำแพงด้านทิศตะวันออกเมื่อประมาณ พ.ศ.2524 กองอิฐดังกล่าวบางส่วนถูกตักไปรวมกันไว้ที่ฐานของพระธาตุน้อย บางส่วนนำไปถมดินทำฐานโบสถ์ในปัจจุบัน
หลังจากที่พระธาตุน้อยศรีบุญเรืองได้ล้มลง ก็มิได้มีผู้ใดบูรณปฏิสังขรณ์จนกระทั้งในสมัยท่านพระครูอดุลนพกร เจ้าอาวาสวัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริเริ่มและบูรณะองค์พระธาตุน้อยขึ้น ในวันที่ 6 มีนาคม 2524 ท่านพระครูอดุลนพกร ได้เห็นกองอิฐกระจัดกระจาย จึงได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้าน ควรจะสร้างฐานรอบพระธาตุเพื่อป้องกันการขโมยและเพื่อเป็นที่สักการะบูชาต่อไป โดยครั้งแรกได้ดำเนินการก่อสร้าง เพียงเทคาน เทเสา ชั้นล่าง โดยใช้เงินงบประมาณของวัด จำนวน 6,300 บาท แต่ยังไม่เสร็จเพราะงบประมาณหมดก่อน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2525 ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อโดยใช้เงินงบประมาณของวัด จำนวน 30,203 บาท ได้ก่อกำแพงล้อมรอบไม่ฉาบปูน เมื่อพ.ศ.2531 ได้ทำการฉาบปูนชั้นบนชั้นล่าง และเทคานชั้นที่ 2 พร้อมเสา แต่ก็ขาดงบประมาณจึงไม่เสร็จ ต่อมาได้เกิดฝนตกหนักมีลมพายุพัดกระหน่ำอย่างหนัก ทำให้น้ำขังบริเวณพระธาตุน้อยกำแพงล้อมรอบทนรับน้ำหนักไม่ไหวจึงพังทลาย 3 ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตก
เมื่อการบูรณะองค์พระธาตุน้อยไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการรักษาองค์พระธาตุน้อยศรีบุญเรืองมิให้มีผู้ใดมาขุดเจาะหาของเก่า กำนันบุญเยี่ยม ศุภวุฒิ จึงได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถานภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2526 และในปี พ.ศ.2554 ได้มีการริเริ่มอยากจะบูรณะองค์พระธาตุน้อยศรีบุญเรืองขึ้นครั้ง โดยมีพระอธิการวิวัฒน์ ญาณวฑฺฒโน เป็นผู้นำในการบูรณะองค์พระธาตุน้อยศรีบุญเรือง กระทั่งสำเร็จดังที่เห็นในปัจจุบัน
เทพพนม รายงาน