PEA นครพนม จัดวันครบรอบวันสถาปนา 60 ปี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจงแนวทางดำเนินงาน และการพัฒนาขยายความเข้าใจสู่ประชาชน
วันที่ 9 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครพนม(PEA) เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายพิพจน์เดช เลิศพสุโชค ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ เปิดเผยว่า ในโอกาสวันสถาปนาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ครบรอบ 60 ปี PEA จังหวัดนครพนม จึงได้จัดกิจกรรม 60 ปี PEA ขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายและโครงการในด้านต่าง ๆ ของ PEA ที่ได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยได้เชิญสื่อมวลชนทุกแขนงในจังหวัดหวัดนครพนม มาร่วมรับฟังพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิด ข้อมูล ตอบข้อซักถามที่ประชาชนสงสัยเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนก่อนที่จะนำไปขยายผลต่อยังประชาชนในพื้นที่ โดยมี นางวรณันท์ สาริวงษา รอง ผจก.ฝ่ายบริหารฯ และ นายธรรมนูญ อุปรโคตร ผู้ช่วย ผจก.ฝ่ายเทคนิค ให้รายละเอียดแก่สื่อมวลชน
นายพิพจน์เดชฯ ผจก.PEA นครพนม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทุกคนจะเห็นว่า PEA มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งด้านคุณภาพและบริการภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรชั้นนำที่ทันสมัยในระดับภูมิภาค มุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
โดยในส่วนของ PEA นครพนม ได้มีการพัฒนาบุคลากรรวมถึงมีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เพื่อตอบโจทย์ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีการวางแผนสำหรับอนาคต ทั้งนี้ในปี 2565 จะมีการสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 3 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 1 แห่ง โดยจะสร้างบริเวณทางออกไปอำเภอธาตุพนม และที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ถ้าเสร็จสมบูรณ์จะเข้ามาช่วยลดแก้ปัญหาในเรื่องของไฟตก ไฟดับ ได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของแต่ละพื้นที่ก็มีการเสริมหม้อแปลงไฟฟ้าเข้าไปตามจุดที่มีปัญหาอีก คาดว่าในปี 2567 จะไม่มีเรื่องไฟตกในพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะจากที่ดำเนินการมาพบว่าปัญหาไฟดับมีความถี่ลดลงร้อยละ 27.4 ของช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้เพื่อความสวยงามและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดระเบียบสายสื่อสารโดยทำไปแล้ว 38 เส้นทางและในปีต่อไป ก็จะมีเพิ่มเติมเข้ามาอีกหลายเส้นทาง มีการติดตั้งระบบป้องกันระบบไฟฟ้ามากสุดในเขตนี้ ซึ่งในปัจจุบันทาง PEA นครพนมได้มีการรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดผ่านระบบ GS ทำให้ทราบว่ามีการใช้ไฟฟ้าในจุดต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด และมีการวางแผนจัดลำดับความสัมพันธ์เร่งด่วนเพื่อทำการปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด
นายธรรมนูญฯ ผช.ผจก.PEA นครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด – 19 ก็มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน 7 ด้าน ประกอบไปด้วย มาตรการลดค่าไฟฟ้าลง 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน มาตรการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 6 เดือน ซึ่งมาตรการนี้มุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง เช่น กลุ่มโรงแรม และกิจการให้เช่าอาศัย มาตรการให้ใช้ไฟฟ้าฟรี สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 บ้านอยู่อาศัย ที่มีมิเตอร์ไฟฟ้าไม่เกิน 5 แอมป์ (5A) โดยจะได้สิทธิฟรีค่าไฟฟ้า 150 หน่วย มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้รับไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก มาตรการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าอัตราขั้นต่ำให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 กิจการขนาดกลาง-ใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง เช่น โรงแรม องค์กรไม่แสวงหากำไร และสูบน้ำเพื่อการเกษตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน มาตรการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 6 เดือน ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 บ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดมิเตอร์ไม่เกิน 5A ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1-1.2 บ้านอยู่อาศัย
นอกจากนี้ PEA นครพนม ได้บรรจุแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อความสวยงามและปลอดภัย ที่ผ่านมานำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วบนถนนสายหลัก เช่น ถนนนิตโย มุ่งสู่องค์พญาศรีสัตตนาคราช และถนนสุนทรวิจิตรเลียบแม่น้ำโขง และเตรียมดำเนินการที่ถนนเฟื่องนคร ช่วงสามแยกหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ จุดเช็คอินชื่อดังของจังหวัด ถึงสี่แยกธนาคารออมสิน และจะเพิ่มเติมอีกสายเส้นในเขตเทศบาลเมืองนครพนม
ตามประวัติการกำเนิดไฟฟ้าในประเทศไทย มีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2427 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ให้กำเนิดกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย คือ จอมพลเจ้าพระยา สุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ โดยท่านได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้าและติดดวงโคมไฟฟ้าที่กรมทหารหน้า ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ในวันที่เปิดทดลองใช้แสงสว่างด้วยไฟฟ้าเป็นครั้งแรกนั้น ปรากฏว่าบรรดาขุนนาง ข้าราชการและประชาชนมาดูแสงไฟฟ้าอย่างแน่นขนัดด้วยความตื่นตาตื่นใจ เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างขึ้นในวังหลวงทันที จากนั้นมาไฟฟ้าก็เริ่มแพร่หลาย ไปตามวังเจ้านาย
กิจการไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อบริษัทจากประเทศเดนมาร์กได้ขอสัมปทานผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้เดินรถรางจากบางคอแหลมถึงพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรก และได้ขยายการผลิตไฟฟ้าเพื่อแสงสว่าง โดยติดตั้งระบบผลิตที่มั่นคงถาวรขึ้นที่วัดเลียบ (ที่ตั้งการไฟฟ้านครหลวงในปัจจุบัน) ต่อมา ในปี 2457 โปรดเกล้าให้ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นอีก 1 โรง เรียกว่าการไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งต่อมามีฐานะเป็นกองหนึ่งของกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และในที่สุดได้รวมเข้ากับกิจการไฟฟ้ากรุงเทพฯ (วัดเลียบ) จนกลายมาเป็นการไฟฟ้านครหลวงในปัจจุบัน ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการและนนทบุรี รวม 3 จังหวัด
สำหรับกิจการไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อทางราชการได้ตั้งแผนกไฟฟ้าขึ้นในกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และได้ก่อสร้างไฟฟ้าเทศบาลเมืองนครปฐมขึ้น เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2473 จากนั้น ไฟฟ้าจึงได้แพร่หลายไปสู่หัวเมืองต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีเอกชนขอสัมปทานจัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นหลายแห่ง ต่อมา ในปี 2477 มีการปรับปรุงแผนกไฟฟ้าเป็นกองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น กองไฟฟ้าภูมิภาค
หลังจากก่อสร้างไฟฟ้าที่เทศบาลเมืองนครปฐมเป็นแห่งแรกแล้ว มีการทยอยก่อสร้างไฟฟ้าให้ชุมชนขนาดใหญ่ระดับจังหวัดและอำเภอต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการไฟฟ้าขาดแคลนอะไหล่และน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบผลิตชำรุดทรุดโทรม จนถึงปี 2490 สภาวะทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ประเทศไทยเริ่มพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญขึ้น ดังนั้น ภารกิจของไฟฟ้าภูมิภาคจึงหนักหน่วงขึ้น รัฐบาลเริ่มเห็นความจำเป็นในการเร่งขยายการก่อสร้างกิจการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใหม่และดำเนินกิจการไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้นจึงได้จัดตั้ง องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อปี 2497 เพื่อรับผิดชอบดำเนินกิจการไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค ฯลฯ
เทพพนม รายงาน