สำนักวิปัสสนากัมมัฎฐานพุทธเกษตรฯ ปทุมธานี ประกาศ “เสาร์ห้า เดือนสิบ” ฤกษ์ดีหล่อหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล บูรพาจารย์สายพระป่า

สำนักวิปัสสนากัมมัฎฐานพุทธเกษตรฯ ปทุมธานี ประกาศ “เสาร์ห้า เดือนสิบ” ฤกษ์ดีหล่อหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล บูรพาจารย์สายพระป่า

 

“พระครูวิเวกพุทธกิจ” หรือ “หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล” พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี บูรพาจารย์สายพระป่า และอาจารย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นามเดิมชื่อ เสาร์ พันธ์สุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2402 ที่บ้านข่าโคม ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่ออายุ 15 ปี บรรพชา ณ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  มีความวิริยอุตสาหะขยันขันแข็ง ตั้งใจทำกิจการงานของวัด ทั้งการท่องบ่นสาธยายมนต์ เรียนมูลน้อย มูลใหญ่ มูลสังกัจจายน์ ศึกษาทั้งการอ่านการเขียนอักษร ไทยน้อย ไทยใหญ่ และอักขระขอม จนชำนาญคล่องแคล่วทุกอย่าง

พออายุ 20 ปี ก็ได้อุปสมบท ที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ และพำนักอยู่ที่วัดใต้ ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ต่อมาพรรษา 10 ได้ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็น ญาคู คือ ครูสอนหมู่คณะทั้งพระภิกษุและฆราวาส ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ญาคูเสาร์”

ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำนักวัดศรีทอง และได้ขอทัฬหิกรรม ญัตติบวชใหม่เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ อุโบสถวัดศรีทอง (ปัจจุบัน คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี) โดยมี พระครูทา โชติปาโล ซึ่งต่อมาได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูสีทันดรคณาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทั้งนี้ ยังได้นำคณะสงฆ์พระภิกษุสามเณรในวัดใต้ ทั้งหมดญัตติกรรม เป็นคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ด้วยเหตุนี้วัดใต้ หรือ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จึงกลายเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นับแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว ท่านได้ศึกษาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติจากท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น ได้ประกอบความเพียรในด้านวิปัสสนาธุระ ยึดมั่นในหลักธุดงควัตร 13 บำเพ็ญเพียรสมณธรรม ซึ่งการที่ปฏิบัติภาวนา แม้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ท่านคิดว่าควรจะออกไปอยู่ป่าดง หาสถานที่สงบ เพื่อจิตใจจะได้สงบยิ่งขึ้น

ดังนั้น ท่านจึงออกธุดงค์เป็นเวลาหลายพรรษา ท่านก็กลับมาเปิด “สำนักปฏิบัติธรรม วัดเลียบ อ.เมืองอุบลราชธานี” ต่อมาปี พ.ศ.2439 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อุปสมบทและมาจำพรรษา ณ วัดเลียบ และถวายตัวเป็นศิษย์เรียนพระกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์ ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2485 ที่อุโบสถวัดอำมาตยาราม นครจำปาสัก (ปัจจุบัน คือ ส่วนหนึ่ง ของแขวงจำปาสัก ประเทศลาว) สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62 ซึ่งคณะศิษย์ได้นำสรีระ ของท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นับว่าท่านเป็นบูรพาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต ซึ่งในปี 2563-2564 องค์การยูเนสโก้ได้ยกย่องให้หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านสาขาสันติภาพ
ดังนั้น สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานพุทธเกษตรฯ จ.ปทุมธานี จึงเตรียมดำเนินการก่อสร้างหลวงปู่เสาร์ ในวันที่ 5 กันยายน 2563 โดย อาจารย์สรชัย ประไพพงษ์ กล่าวว่า เราจะดำเนินการการก่อสร้างหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล สูงถึง 11 เมตร และ หน้าตักกว้างถึง 9 เมตร เนื่องจากหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เป็นบูรพาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต และ มีประวัติความเป็นมา คือ องค์ท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดเดียวกับพระครูเกษมวรกิจ หรือ “หลวงพ่อวิชัย เขมิโย” ซึ่งเป็น  หนึ่งในพ่อแม่ครูอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต จึงมีความดำริที่จะก่อสร้างองค์หลวงปู่เสาร์ที่มีขนาดใหญ่ เพื่อเป็นสังฆานุสติ ให้ชาวพุทธเกิดแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ไม่ขาดสาย จึงตั้งให้องค์หลวงปู่เสาร์เป็นจุดศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชน และ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบูรพาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต

นอกจากนี้ ยังเป็นความดำริของสหธรรมิกของหลวงพ่อวิชัย เขมิโย นั่นคือ องค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่เหลี่ยม สุจิณโณ วัดภูตูมวนาราม จังหวัดเลย   “หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์หลวงปู่มั่น โดยองค์หลวงปู่มั่นนั้น ก็มีการหล่อกันมามากแล้ว แต่เบื้องหลังการธุดงค์จาริกแสวงธรรมของหลวงปู่มั่น มีอาจารย์ที่สอนท่านมา คือ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโลและ เผอิญ หลวงพ่อวิชัยฯเป็นคนอุบลราชธานี หลวงปู่เสาร์ก็เป็นคนอุบลฯ และ หลวงพ่อฯก็สร้างวัดใหม่ที่เมืองปทุม ซึ่ง “ปทุม” แปลว่า “ดอกบัว”   โดยหลวงปู่เสาร์ให้วิชาความรู้ ท่านมีคุณูปการ ดังนั้นการที่เราสร้างหลวงปู่เสาร์ขึ้นมา ก็เพื่อให้คนที่มีปัญญาจะเข้าวัด แต่คนที่ไม่เข้าวัด เราก็ใช้ตรงนี้ ใช้กุศโลบาย มากราบพระใหญ่แทน เพื่อปลูกศรัทธาให้คนเข้าวัด” อาจารย์สรชัย กล่าว

สำหรับกำหนดการหล่อหลวงปู่เสาร์นั้น จะทำพิธีในวันเสารที่ 5 กันยายน พ.ศ.2563 โดยจะมีการหล่อหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 11 เมตร และหล่อด้วยปูนซีเมนต์ มีกำหนดการหล่อทั้งหมด 11 ครั้ง ครั้งละ 1 เมตร เป็นเวลา 11 เดือน ครั้งแรกหล่อวันที่ 5 กันยายน ครั้งต่อไปจะเป็นช่วงงานทอดกฐินประจำปีในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งจะเป็นการหล่อครั้งที่ 2   ซึ่งการหล่อในวันเสาร์ที่ 5 กันยายนที่จะถึงนี้ จะเป็นการหล่อที่ฐานของหลวงปู่เสาร์ และเป็นช่วงเท้า โดยแต่ละเดือนจะมีการประกาศว่า การหล่อแต่ละครั้งหล่อช่วงไหนของสรีระขององค์หลวงปู่เสาร์โดยพิธีหล่อจะเริ่มประมาณ 09.00 น. และ ในวันเดียวกันในเวลาประมาณ 06.30 น. จะมีพิธีปลูกต้นศรีมหาโพธิ์จากประเทศศรีลังกาด้วย

 

 

You May Have Missed!

1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา แต่งตั้ง “บิ๊กทิน” ผจก.ฟุตซอลทีมชาติไทย  เป็นประธานที่ปรึกษาโรงเรียน
1 Minute
ข่าวประชาสัมพันธ์
พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดงานใหญ่ส่งท้ายปี งานมหกรรม ภูมิพลังแผ่นดิน
1 Minute
กิจกรรมเพื่อสังคม
ไม่สนคำ ว่าทำบุญเอาหน้า…เสี่ยเดย์ นักบุญเจ้าเดิมช่วยการศึกษาอีกกว่า 3 ล้าน
0 Minutes
โรงพยาบาล
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 53 ปี ชูแนวคิด ทุ่มเทอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างประสบการณ์สุขภาพที่เหนือชั้น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มการยอมรับและมั่นใจกับผู้มารับบริการ