“ลดาวัลลิ์” เยือนกาฬสินธุ์เติมบทบาทสตรีแก้ภัยแล้งชูนโยบายสร้างความมั่นคงด้านน้ำ
แนะชาวกาฬสินธุ์สู้ภัยแล้งด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมช่วยทวงคืนอิสรภาพการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานฯ เปิดเผยว่าล่าสุด ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง ของนายรัฐวัสส์ จรัสอภิรักษ์ โดยได้พบปะเกษตรกรจากอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์และอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อช่วงเช้า วันที่ 29 สิงหาคม 2563 เพื่อรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาตลอดและความช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ควรปรับปรุงกระบวนการขุดลอกแหล่งน้ำให้ได้ผลอย่างแท้จริงแก้ปัญหาขุดลอกแล้วยังไร้น้ำ กลายเป็นห้วยแล้ง สระแล้งมากมาย
ทั้งนี้นางลดาวัลลิ์จึงได้ขี้แจงนโยบายของว่าที่พรรคเสมอภาคที่กำหนดโครงการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำไว้หลายวิธี ที่สำคัญ คือโครงการเก็บน้ำไว้ใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดิน จึงแนะนำการทำธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับการทำแก้มลิงบนหน้าดินแก่เกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้เก็บน้ำได้อย่างแท้จริง
สำหรับ ข้อดีของธนาคารน้ำใต้ดินคือสามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ใต้ดิน น้ำจะไม่ระเหยเพราะความร้อนเหมือนน้ำในบ่อบนผิวดิน ส่งผลให้ในหน้าแล้งยังมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายนางลดาวัลลิ์และทีมเสมอภาค ได้พบปะประชาชนหลายอาขีพจาก 15 อำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีตัวแทนกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดกาฬสินธุ์ได้บอกเล่าถึงอุปสรรคปัญหาการบริหารจัดการกองทุนที่ย้ายจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปอยู่ภายใต้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้กลุ่มสตรีต้องจำยอมรับโครงการที่คิดโดยข้าราชการแม้ไม่สนองความต้องการของสตรีก็ตาม เพราะถ้าไม่รับก็จะไม่จัดสรรงบประมาณให้ ซึ่งเป็นความอึดอัดใจของกลุ่มสตรีทั่วประเทศแต่ไม่รู้จะแจ้งให้ใครมาข่วยแก้ไขให้ได้ พร้อมกันนี้ รู้สึกดีใจเมื่อมาพบนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่มก่อตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตั้งแต่ปี 2548 ด้วยทุนประเดิมจากรัฐบาล 780 ล้านบาท และได้กลายมาเป็นนโยบายรัฐบาลปี 2554 ด้วยทุนที่เพิ่มขึ้นเป็น 7,800 ล้านบาท จึงขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สตรีทั่วประเทศด้วย
ตั้งแต่ปี 2548 ได้วางแผนดำเนินการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไว้ 3 ระยะ คือระยะแรกนำร่อง 780 ล้านบาทตั้งกองทุนไว้ระดับตำบลๆละ 100,000บาท สำหรับ 7,800 ตำบล/ชุมชน ระยะที่สองคือ 7,800 ล้านบาทสำหรับ 78,000 หมู่บ้าน/ชุมชน และระยะที่สามคือ 78,000 ล้านบาทสำหรับ 78,000 หมู่บ้าน/ชุมชนๆละ 1,000,000 บาทอยู่คู่กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ
“หลักการที่คิดไว้ตั้งแต่ต้นคือ การให้ สตรีบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วยตนเอง ให้ข้าราชการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเท่านั้นไม่ควรเข้ามาครอบงำการตัดสินใจแทนสตรี วิธีนี้จะเป็นการพัฒนาบทบาทและศักยภาพการเป็นผู้นำของสตรีให้มีความรู้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ ในแต่ละโครงการแต่ละกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของสตรีไทยให้มีความก้าวหน้า ทันสมัย และยกระดับสตรีไทยให้เก่งในด้านทำธุรกิจการค้าขาย การลงทุนและการส่งออก สตรีจะพึ่งตนเองได้ สตรีจะมีบทบาทร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเข้มแข็ง จึงขอเชิญชวนสตรีไทยทุกหมู่บ้านทุกชุมชน มารวมพลังกันให้แน่นแฟ้นเพื่อแก้ไขทุกอุปสรรคปัญหาของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของพวกเราให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติโดยรวม ไม่ใช่ประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง” นางลดาวัลลิ์ กล่าว