5 หน่วยงาน จ.นครพนม รวมพลังสร้างมาตรฐานดูแลงานอนามัยแม่และเด็ก ขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต
วันที่ 26 สิงหาคม 2563 ที่จังหวัดนครนครพนม นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กการดูแลหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงและการดำเนินงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต และร่วมเป็นสักขีพยานร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตจังหวัดนครพนม ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครพนม สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครพนม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครพนม จัดทำขึ้น เพื่อที่จะร่วมกันขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย นับตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึง 2 ขวบปีแรก ซึ่งเป็นช่วงวัยทองของเด็กที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมอง เพราะเป็นช่วงที่โครงสร้างสมองมีการพัฒนาสูงสุด มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย มีโภชนาการที่ดี สูงดีสมส่วน โดยเป็นการดำเนินการที่ส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชนและสังคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลหญิงตั้งครรภ์ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ครอบครัวและชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน
เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีการเกิดของเด็กน้อยลงและมีระดับเชาว์ปัญญาค่อนไปทางต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากล โดยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่มีการสำรวจในปี 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พบว่าระดับสติปัญญานักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศจำนวน 23,641 ราย มีระดับเชาวน์ปัญญา (Intelligent Quotient : IQ) เฉลี่ยเท่ากับ 98.23 ถือเป็นระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำกว่าค่ากลางของมาตรฐานสากลในยุคปัจจุบัน (IQ=100) ซึ่งในภาพรวมของประเทศยังมีเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติอยู่ถึงร้อยละ 31.81 และยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่องอยู่ถึงร้อยละ 5.8 ส่วนการสำรวจ EQ โดยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ เด็กอายุ 6-12 ปี (ฉบับย่อ) สำหรับครู ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกรมสุขภาพจิต จากเด็กจำนวน 23,276 ราย พบว่ามี EQ อยู่ในระดับปกติขึ้นไปร้อยละ 77 และ EQ อยู่ในระดับควรได้รับการพัฒนาร้อยละ 23 อีกทั้งประเทศไทยอย่างกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2567 ซึ่งถ้าเราไม่เร่งพัฒนาในส่วนนี้จะส่งผลการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ตัวแทนบุคลากรของหน่วยงานที่ร่วมลงนาม จำนวน 150 ยังจะได้รับองค์ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความสำคัญของมหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต วิธีการประเมินความเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์และแนวทางการพัฒนาเครือข่ายในการดูแลหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ และแนวทางการดำเนินงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต รวมถึงได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการดำเนินงาน ร่วมกันอภิปรายปัญหาทั่วไปในการดำเนินงานของแต่ละสถานที่เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
เทพพนม รายงาน