โครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำจากขุมเหมืองร้าง “ทับสะแกโมเดล” เดินหน้าต่อเนื่อง
วันที่ 23 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฝ่ายพิจารณาโครงการ ส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 14 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนายทรงฤทธิ์ กงซุย หัวหน้าฝ่ายพิจารณาโครงการ นางสาวทิพยดา แก้วมณี วิศวกรชลประทานปฏิบัติการ และนายธนโชติ นิลออ นายช่างชลประทาน นายสมศักดิ์ เมืองลอย หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงตรวจสอบสภาพพื้นที่และเก็บข้อมูล ตามโครงการพัฒนาเพื่อจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและเกษตรกรรม มีนายวิจิตร ตังคณากุล นายกอบต.นาหูกวาง นายวิโรจน์ ทองเกิด กำนัน ต.นาหูกวาง ผู้ใหญ่บ้านจากหลายหมู่บ้าน และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมนำสำรวจ
นายทรงฤทธิ์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำที่กระจายอยู่ใน ม. 3 บ้านโป่งแดง ม. 4 บ้านเหมืองแร่ และ ม. 10 บ้านทุ่งตาแก้ว มีจำนวนมากหลายสิบแห่งขนาดแตกต่างกันออกไป เฉพาะที่สำรวจวันนี้มากกว่า 20 แห่ง ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของขุมเหมืองดีบุกที่หมดอายุสัมปทาน แต่มีความพร้อมทางภูมิศาสตร์ มีความเป็นไปได้ต่อการพัฒนาให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสูงมาก อ่างเก็บน้ำบางจุดที่อยู่ติดๆ กัน อาจใช้วิธีการขุดลอกสันดินออกให้เป็นอ่างขนาดใหญ่ หากมีการเดินท่อส่งน้ำเชื่อมอ่างเก็บน้ำทั้งหมด รวมทั้งเขื่อนจะกระ เข้าด้วยกันเป็นระบบที่เรียกว่าอ่างพวง สามารถเก็บน้ำได้จำนวนมาก ลดปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตร ได้ทั่วทั้งอำเภอทับสะแก ทั้งนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นยังต้องศึกษารายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
ด้านนายวิโรจน์ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลจากการสำรวจในวันนี้ ตนและคณะหวังว่าจะมีการสรุปและรายงานผู้บริหารระดับสูงต่อไป ที่ผ่านมาหลายสิบปีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองเก่า ต.นาหูกวาง เป็นสิ่งที่ชาวบ้านและเกษตรกรอยากให้เกิดขึ้น ด้วยหวังให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการประมงน้ำจืด พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สถานที่เล่นกีฬาทางน้ำ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น ที่ผ่านมาเป็นเพียงความหวังมาตลอด ครั้งนี้จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ
“โครงการนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความสำคัญด้วยเห็นว่ามีเหมืองแร่ร้างกระจายอยู่ทั่วไปหลายจังหวัด เมื่อพัฒนาแล้วจะเกิดประโยชน์มาก ในการประชุมกมธ. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายวีรกร คำประกอบ ประธานในที่ประชุม ได้กำชับและเร่งรัดให้ส่วนราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม และให้ชี้แจงต่อที่ประชุมกมธ. ในครั้งต่อไปวันที่ 27 สิงหาคม 2563” นายดิเรก จอมทอง และนายสายชล ชนะภัย ผู้ประสานงานโครงการในพื้นที่กล่าว
ณัฐธภพ พันสาย – พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา ประจวบคีรีขันธ์