กลุ่มรักลุ่มน้ำโขงร้องสื่อ ขยายสะพานตอกตอม่อขวางทางเดินปลา
ทำลายระบบนิเวศยับ ปลาหลงขึ้นวางไข่ไม่ได้ ชาวประมงสนุกมือจับได้วันละกว่าครึ่งร้อยกิโล
วันที่ 6 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากนายสมพร ริมสกุล อายุ 77 ปี อดีตสมาชิกสภาจังหวัด(สจ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม(อบจ.ฯ) เขตอำเภอท่าอุเทน ว่า มีการสร้างขยายสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212(นครพนม-บ้านแพง) เพื่อรองรับการขยายถนน 4 เลน แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการสร้างเสาตอม่อวิศวกรก็นำแผ่นเหล็กและตั้งกำแพงดินมาขวางกั้นทางเดินของปลานานาชนิด ที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ จึงจะเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว
นายสมพรเปิดเผยว่าช่วงฤดูปลาวางไข่จะอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ถ้ามีการนำสิ่งกีดขวางทางเดินของปลาแล้ว ปลาก็จะว่ายวนกลับลงมา ชาวประมงพื้นบ้านก็จะใช้อุปกรณ์ในการหาปลามาดักไว้ จึงได้ปลามากกว่าปกติ และในท้องจะมีไข่ปลาหมดทุกตัว ดังนั้นการเอาดินมาถมปิดกั้นทางน้ำมันถูกต้องหรือไม่
ด้าน นายอุทัย ไชยสุวรรณ อายุ 37 ปี อาชีพหาปลาในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสงครามมาแต่บรรพบุรุษ กล่าวว่า เมื่อมีการขยายสะพานตอกเสาเข็มก็ปิดช่องทางน้ำ เมื่อมันไม่เหมือนเดิมปลาขึ้นไปแล้วก็ชะงัก จึงว่ายวนกลับก็จะโดนข่ายของชาวประมงทันที จึงมีการจับปลาได้มากถึงรายละไม่ต่ำกว่า 60 กก./คน ซึ่งนายอุทัยได้พาผู้สื่อข่าวลงเรือไปดูการก่อสร้างสะพานดังกล่าวด้วย เป็นช่วงจังหวะมีน้ำขึ้นจึงมองไม่เห็นกองดินและแผ่นเหล็กที่ขวางทางน้ำ
ด้าน นายสำราญ รื่นนาค นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนประมงจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตามพระราชกำหนด การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 63 ที่ระบุว่า ห้ามผู้ใดติดตั้ง วาง เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นใดในที่จับสัตว์น้ำ อันเป็นการกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ หรือเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ฯลฯ มีบทลงโทษ ตาม พรก.การประมง 2558 มาตรา 143 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 1,000,000 บาท และต้องรื้อถอน หรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน หรือฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำให้กลับสู่สภาพตามธรรมชาติให้แก่รัฐ ตามจำนวนที่รัฐได้ใช้จ่ายไป
ส่วนที่ร้องเรียนว่ามีการขยายสะพานข้ามแม่น้ำสงครามนั้น วิศวกรตั้งแผงเหล็กและถมดินขวางการเดินทางของปลาไปวางไข่ ก็จะเข้าไปสอบถามข้อเท็จจริง ถ้ามีสิ่งกีดขวางทางเดินของปลาจริง อาจจะต้องปรึกษาขอความเห็นผู้ใหญ่อีกครั้ง
แม่น้ำโขงมีความยาวรวมทั้งสิ้น 4,880 กม. เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ส่งผลให้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด
สำหรับ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นบริเวณลำน้ำสงครามไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่าปากน้ำไชยบุรี โดยเฉพาะแม่น้ำสงครามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น แรมซาร์ไซต์(Ramsar Site) หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย โดยเริ่มจากปากน้ำไชยบุรี ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ไปถึงบ้านปากยาม ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม รวมระยะทาง 92 กม. และเป็นลำน้ำสาขาเพียงแห่งเดียวในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ทุกๆปีมีปลาจากลุ่มน้ำโขงอพยพขึ้นไปวางไข่ เพราะตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำสงครามมีป่าบุ่งป่าทาม เสมือนกำแพงที่เป็นแหล่งอาศัยหลบภัย ขยายพันธุ์ และเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์น้ำที่เมื่อโตขึ้นก็จะว่ายออกมายังแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป เป็นระบบนิเวศน์ที่ดีที่สุดในลุ่มน้ำโขง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงปากน้ำที่แม่น้ำสงครามไหลมาบรรจบ มีป้ายสนับสนุนโครงการปรับปรุงการจัดการระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง น้ำเมา น้ำสงคราม และแม่น้ำโขง WWF THAILAND ประกาศเขตอนุรักษ์ห้ามจับสัตว์น้ำ บ้านไชยบุรี หมู่ 1 ต.ไชยบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 เป็นต้นมา ระบุข้อบังคับและบทลงโทษว่า ห้ามผู้ใดเข้าไปหาปลาและเก็บหาพืชน้ำในเขตอนุรักษ์โดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนลักลอบเข้าไปจับปลาฯ ครั้งที่ 1 ถูกตักเตือนก่อน ถ้าพบเป็นครั้งที่สอง จะถูกปรับตั้งแต่ 2,000-5,000 บาท หากยังฝ่าฝืนอีกจะถูกส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
เทพพนม รายงาน