วิสาหกิจชุมชนนาหูกวาง ทับสะแก ร่วมถกนิด้ากรณีโรงไฟฟ้าชีวภาพในพื้นที่
วันที่ 3 สิงหาคม 2563 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลนาหูกวาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรัขันธ์ นำโดยนายวิโรจน์ ทองเกิด กำนันตำบลนาหูกวาง ฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ คณะกรรมการและที่ปรึกษา ได้เดินทางร่วมสานเสวนา ครั้งที่ 2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ ณ โรงแรมโนโวเทล ชุมพร บีช แอนด์ กอล์ฟ คลับ จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มีผู้เข้าร่วมสานเสวนาจาก กลุ่มเอ็นจีโอ ตัวแทนองค์กรชุมชน และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหลายอาชีพจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ รวมกว่า 60 คน มีคณะกรรมการ SEA และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมสังเกตการณ์
หลังพิธีเปิด ศาตราจารย์ ดร.จำลอง โพธิ์บุญ หัวหน้าโครงการและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน นิด้า ชี้แจงว่า โครงการนี้ กระทรวงพลังงานมอบให้ทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโยลีของพื้นที่ภาคใต้ว่า ควรมีโรงไฟฟ้าฐานหรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือไม่ หากมีจะใช้เชื้อเพลิงอะไร แต่หากไม่จำเป็น จะมีทางออกในการพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้ในช่วง 20 ปีนับจากนี้อย่างไร ในวันที่ 3 นี้ จะร่วมกันพิจารณาทางเลือกในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีประเภทพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ แสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ลม น้ำ และขยะมูลฝอย
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลนาหูกวาง กล่าวว่า ขอสนับสนุนการสานเสวนาที่เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และเท่าเทียมกัน และย้ำว่าที่ผ่านมาหลายโครงการก่อสร้างของรัฐ มักสั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่าง ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมน้อย หลายโครงการเป็นเรื่องที่ดีมากแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดมักถูกคัดค้าน ถือเป็นปัญหาการทำงานของภาครัฐที่เกิดขึ้นมานานแล้ว จึงขอเสนอว่าโครงการต่างๆ รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าภาคใต้ ควรเริ่มต้นจากส่วนล่างหรือจากภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เสนอความต้องการขึ้นไปมากกว่าให้ภาครัฐดำเนินการไปเองฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เชื้อเพลิงชีวภาพ ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในสื่อหลายแห่งว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเข้ามาดำเนินการให้เป็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล แต่กลับประสานงานกับชุมชนน้อยมาก ชาวบ้านใน ต.นาหูกวาง แทบไม่รู้ข่าวด้วยซ้ำไป จึงขอให้การสานเสวนาในครั้งนี้เป็นสื่อกลาง แจ้งให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบซึ่งอาจเป็นทางกระทรวงพลังงานหรือ กฟผ. ทราบต่อไปด้วย
ก่อนจบการสานเสวนาในช่วงเย็น ที่ประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกตัวแทนจาก 3 จังหวัด รวม 5 คน ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการเสวนาใหญ่ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะมีการสรุปผลการศึกษาตามกรอบของ SEA และเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป
ขอบคุณภาพจากทีมงาน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)