ตำรวจประจวบฯบุกจับแม่สาวพนักงานราชการโกงงบหลวง 40 ล้าน พร้อมเชิญหัวหน้าการเงินมอบตัวแจ้งข้อหามาตรา 157
จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 หลังจากนำเงินงบประมาณของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท จากการโอนเงินผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเลคทรอนิคส์ หรือ GFMIS โอนเข้าบัญชีส่วนตัว และ พบการกระทำความผิดในการทำข้อมูลหลักฐานเท็จจากการปลอมเช็ครวม 165 ครั้ง ขณะนี้ถูกควบคุมตัวจากการฝากขังผัดที่ 3 ในเรือนจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์
เมื่อเวลา 15.00 น วันที่ 21 กรกฎาคม ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อนุมัติให้ออกหมายจับนางสายพิณ ดิบดีคุ้ม อายุ56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 82/21 หมู่ 8 ต.คลองวาฬ อ.เมือง มารดาของ น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้อห้าร่วมกันฉ้อโกงฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนพร้อมหมายจับเดินทางไปจับกุมตัวที่บ้านพัก ล่าสุดยังไม่พบตัว สำหรับนางประชิด วงศ์ประภารัตน์ ข้าราชการะดับชำนาญการพิเศษ หัวหน้าการเงินสำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลไม่อนุมัติหมายจับเนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาทำงานรับราชการไม่มีพฤติกรรมหลบหนี จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองประจวบฯ เชิญตัวมาแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ความคืบหน้ากรณีการทุจริตอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัด ภายหลังแต่งตั้งนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดทำหน้าที่ประธานฯคาดว่าจะสรุปผลได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับสาเหตุมีการรายงานผลการสอบสวนล่าช้า หลังพบการทุจริตตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2563 เนื่องจากจะต้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญในการใช้ระบบเทคโนโลยีด้านสารสนเทศจากส่วนกลางร่วมสอบสวนและให้ข้อมูล แต่เบื้องต้นยืนยันว่าพนักงานราชการ ได้กระทำการทุจริตโอนเงินในระบบเพื่อนำไปเล่นการพนันออนไลน์เพียงรายเดียว และ หลังจากได้ผลสรุปจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว จะมีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและทางละเมิดกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ หัวหน้างานการเงินและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงนามเบิกจ่ายทุกราย
“เนื่องจากอาจมีข้อบกพร่องในการปฎิบัติหน้าที่ โดย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางไว้สำหรับผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ ส่วนตัวยันยันว่าไม่หนักใจ หากการเบิกจ่ายเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของบุคคลใด ก็ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายกับงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งกรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดใช้ความเสียหายไว้แล้ว”นายพัลลภ กล่าว
นายพัลลภ กล่าวอีกว่า ทราบว่าเร็วๆนี้กรมบัญชีกลางจะทบทวนการใช้ระบบ GFMIS ภายหลังพบการทุจริตจากการโอนเงินในระบบ ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดนั้น จะดูแลรับผิดชอบตามที่ระเบียบได้กำหนดไว้และต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ซึ่งไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากงบประมาณทั้งหมดอยู่ในระบบที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดไว้ในระบบสารสนเทศ ขณะที่พนักงานราชการไม่มีสิทธิที่จะเข้าระบบดังกล่าวได้โดยพลการ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้สั่งการให้นางประชิต วงค์ประภารัตน์ หัวหน้างานการเงินหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าผลการสอบสวนจะเสร็จสิ้น สำหรับบุคคลอื่นต้องรอผลการสอบสวนทางวินัยและทางละเมิด
ด้านแหล่งข่าวทีมสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ( ภ.จ.)ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า หลังจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ สรุปส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในความผิดของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ แต่ขณะนี้ ป.ป.ช.จังหวัดได้ส่งสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนดำเนินการทางคดีอาญา จากนั้นทีมพนักงานสอบสวนได้ประชุมเพื่อสรุปแนวทางส่งให้ ปปป. ปปง. และ ปอท. ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยพบว่ามียอดเงินที่ทุจริตมีมากกว่า 40 ล้านบาท สำหรับลายมือชื่อของข้าราชการ 4 ราย ในสำนักงานจังหวัดที่ปรากฏในเช็คงบประมาณจังหวัด 78 ใบ ได้ส่งให้สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตรวจว่าเป็นการลงลายมือชื่อจริงหรือมีการปลอมแปลง โดยขออนุมัติศาล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ออกหมายจับข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป
ขอขอบคุณภาพข่าวจาก พิสิษฐ์รื่นเกษม