รุกแก้ปัญหาธุรกิจเร่งด่วน ถึงทุกประตูบ้าน thesmecoach.com ด้วยระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ทั่วประเทศของ สสว.
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการปี 3 SME Coach โดยมี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน RISC, ดร.ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด และคุณวรงค์ ยมาภัย ผู้เชี่ยวชาญพัฒนา SMEs สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาร่วมสัมมนาในหัวข้อ Future Coach 2020 โค้ชยุคหลังโควิด 19 ควรมีลักษณะอย่างไร ณ ห้อง Le Lotus 1 โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยแผนงานโครงการ Train the Coach ของ สสว. ซึ่งได้เข้าสู่ระยะปีที่ 3 โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบการรวบรวม คัดสรรโค้ชมืออาชีพจากทั่วประเทศ เสริมองค์ความรู้และทักษะ ให้มีขีดความสามารถที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองแนวทางการพัฒนา SME 4.0 และในเวลาเดียวกัน SME จะสามารถเข้าถึงโค้ชแต่ละท่านได้บนระบบออนไลน์ และเลือกคุณสมบัติของโค้ชที่มีความชำนาญตามที่ตนเองต้องการได้ ปัจจุบันมีโค้ชที่เข้าสู่ระบบกว่า 3,502 ราย ประกอบด้วย (1) โค้ชสายกลยุทธ์ธุรกิจ จำนวน 2,676 ราย และ (2) โค้ชสายเทคโนโลยี จำนวน 826 ราย กระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ และมีสาขาความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือวางกลยุทธ์ธุรกิจ
ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 นี้ บนระบบออนไลน์ the sme coach พร้อมแล้วที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับ SME โดย สสว. จะมีเครื่องมือในการคัดเลือกเครือข่ายโค้ชมืออาชีพจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมบริการช่วยเหลือ สนับสนุน ตั้งแต่การเข้าไปวิเคราะห์ยังสถานประกอบการ และ/หรือ ใช้วิธีการบนเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ เพื่อใช้ในการให้บริการปรึกษาแนะนำ สำหรับปี 2563 จากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ระบบได้ให้คำปรึกษาแนะนำออนไลน์ไปแล้วมากกว่า 500 สถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งสามารถจำแนกปัญหาหลักที่ SME มีความต้องการเร่งด่วนใน 5 ลำดับต้นๆ ได้แก่ (1) ด้านพัฒนากลยุทธ์การตลาดออฟไลน์และออนไลน์ (2) ด้านการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ (3) ด้านการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน (4) ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และ (5) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
ปีนี้ สสว. จะเร่งตอบสนองความต้องการแก้ปัญหาของ SME ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโค้ชมืออาชีพต่างๆ ได้ โดยระบบจะมีตัวกรอง ตั้งแต่ (1) ระดับคุณภาพที่วัดจากจำนวนดาวที่ได้รับจาก SME (2) การคัดเลือกประเภทความเชี่ยวชาญของโค้ช (3) กระบวนการสื่อสารส่งผ่านชุดคำถาม-คำตอบ โดย SME สามารถส่งภาพถ่ายสินค้า หรือแจ้งปัญหาของเครื่องจักร หรือจะส่งภาพขั้นตอนการทำงานให้แก่โค้ชโดยตรงได้ เพื่อปรึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ก่อน (4) ระบบอาจจะนำส่งต่อปัญหานี้ไปยังหน่วยงานเฉพาะด้านที่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่ง สสว. ก็มีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ ที่ร่วมกับทาง สสว. อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว บริการใหม่ที่จะแนะนำในปีนี้ เรียกว่า #เอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ #SMEcoachingonline โดยจะมี ศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) ของ สสว. ที่กระจายให้บริการอยู่ในทุกจังหวัด พร้อมจะสนับสนุนระบบงานนี้บนออฟไลน์ควบคู่กันไป
ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะมีแนวโน้มคลี่คลายลงจนอาจกลับสู่สภาวะปกติ ในอนาคต ทว่ารูปแบบธุรกิจแบบเดิมๆ ก่อนหน้านี้ จะถูกกดดันด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และการแข่งขันทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้วิธีคิดและการดำเนินธุรกิจแบบก่อนหน้านี้ จะไม่กลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีก
“สสว. เชื่อว่า SME ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับโมเดลธุรกิจที่ทันกับยุค วิถีชีวิตปรกติใหม่ (New Normal) ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมาก และหาแนวทางฟื้นฟูและรักษาการเติบโตต่อไปในระยะยาว แนวทางการปรับตัวด้วยดิจิทัลดิสรัปชั่นจะเป็นอีกหนึ่งทางรอดและปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ SME ไทย เปลี่ยนโฉมแนวทางธุรกิจของตนเอง”