“กรมชลประทาน”เดินหน้าลุยโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแยและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อ.หลังสวน แก้อุทกภัยจังหวัดชุมพร
กรมชลประทาน เร่งแก้ปัญหาอุทกภัยจังหวัดชุมพร เดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแย ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อำเภอหลังสวน ผลการศึกษาชี้สามารถช่วยพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาในอนาคต
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 63 กรมชลประทานได้เชิญทางทีมข่าว พร้อมสื่อมวลชนมากมายเดินทางมายัง จ.ชุมพร ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นตัวแทนติดตามโครงการฯ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองแย (พื้นที่ลุ่มน้ำคลองหลังสวนตอนบน) สืบเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพรที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม บางครั้งก็เกิดน้ำล้นตลิ่งในเดือนมีนาคม สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของชาวจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก ในอดีตกรมชลประธานได้มีการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองหลังสวนกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดอุทกภัยเป็นอันดับต้น กระทั่งปี พ.ศ. 2561 ได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาโครงการที่เหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบรรเทาอุทกภัย จังหวัดชุมพร ซึ่งผลการศึกษาขึ้นจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำคลองหลังสวน ได้คัดเลือกโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแย ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งมีศักยภาพสูงที่สุดเป็นอันดับต้นในการพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำ จึงนำมาทำการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกาศ ณ วันที่ 19พฤศจิกายน 2561
ทั้งนี้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองแย มีที่ตั้งหัวงานอยู่ที่หมู่ 14 บ้านปะติมะ ตำบลพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และต้องได้รับการออกแบบที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต เพราะตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ลักษณะชนิดของโครงการเป็นเขื่อนดินถมแบ่งโซน ระดับสันเขื่อน +127 ม.รทก. กว้าง 10 เมตร ยาว 400 เมตร สูง 59 เมตร ความจุอ่างที่ระดับน้ำสูงสุด 25.85 ล้านลูกบาศก์เมตร รับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,826.88 ทท./ปี ระบบชลประทานเป็นระบบท่อส่งน้ำ
การก่อสร้างโครงการดังกล่าว อาจจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหาว จำนวน 349.55 ไร่ คิดมูลค่าไม้สุทธิทั้งสิ้น ประมาณ 3,133,604 บาท กระทบต่อสัตว์ป่า จำนวน 117 ชนิด อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานประสานงานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพิจารณาหาพื้นที่เหมาะสมในการปลูกป่าทดแทน ประมาณ 700 ไร่ ก่อสร้างหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกหาว (คลองแย) จำนวน 1 แห่ง ที่อยู่ใกล้เคียงหัวงานและอ่างเก็บน้ำคลองแย และจัดหาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ให้ประจำหน่วยฯ เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าและการลักลอบล่าสัตว์ป่าในพื้นที่โดยรอบ
พร้อมกันนี้ คาดว่าโครงการอ่างเก็บน้ำคลองแย จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในตำบลพะโต๊ะ และตำบลพระรักษ์ ของอำเภอพะโต๊ะ จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต ทั้งด้านการอุปโภค การเกษตร การสร้างงาน และการสร้างรายได้ รวมทั้งยังสามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อ.หลังสวน (พื้นที่ลุ่มน้ำคลองหลังสวนตอนล่าง) โดยมีสาเหตุมาจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกัน ซึ่งผลการศึกษาขึ้นจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำคลองหลังสวน ได้คัดเลือกออกแบบเป็นคลองระบายน้ำหลาก เพื่อระบายน้ำจากคลองหลังสวน อำเภอหลังสวน จ. ชุมพร ลงสู่ทะเล และได้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแก้ปัญหาและบรรเทาอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอหลังสวน โดยพิจารณาทั้งระบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
โครงการดังกล่าว มีลักษณะพื้นที่ก่อสร้างแนวคลองกว้างประมาณ 150 เมตร มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ หมู่ที่ 8 บ้านจมูกโพรง ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน และจุดสิ้นสุดที่หมู่ที่ 6 บ้านชายเขา ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน ซึ่งแนวคลองได้พาดผ่าน 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางมะพร้าว ตำบลนาพญา ตำบลพ้อแดง ตำบลบ้านควน ตำบลขันเงิน และตำบลท่ามะพลา รวมระยะทางของแนวคลองยาวทั้งสิ้น 17.16 กิโลเมตร
สำหรับรายละเอียดขององค์ประกอบโครงการ ประกอบด้วย คลองระบายน้ำหลากระยะทางยาว 17.16 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำ 9 แห่ง , ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ,สะพานรถยนต์ ค.ส.ล 11 แห่ง ,สะพานรถไฟ 1 แห่ง ไซฟอน 3 แห่ง และ ส่วนรูปแบบคลองมี 3 รูปแบบ ดังนี้ 1) คลองดาดคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตอกเสาเข็มเป็นระยะ ผนังคลองเสียบแผ่นคอนกรีต เหมาะสำหรับพื้นที่จำกัด เช่น แนวคลองตัดผ่านชุมชน 2) คลองคอนกรีตเสริมเหล็กกำแพงตั้งรูปตัวยู เป็นคลองในช่วงตัดผ่าช่องเขาแม่เล เป็นพื้นที่แคบบริเวณช่องเขา และ 3) คลองดาดคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเหมาะสำหรับบริเวณที่โล่ง
ทั้งนี้ จากกิจกรรมก่อสร้างของโครงการ โครงการดังกล่าวอาจทำให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้คุณภาพในแหล่งน้ำมีความขุ่นจนกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้นโครงการจะหลีกเลี่ยงการก่อสร้างในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้การก่อสร้างโครงการจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้า จากการพัฒนาโครงการจะสามารถผันน้ำออกสู่ทะเลในช่วงฤดูน้ำหลากได้มากถึง 1,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่อำเภอหลังสวนได้ถึง ประมาณ 1,375 ไร่