WWF ผนึกกำลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ธนาคารเอชเอสบีซี
ชูโมเดลแม่น้ำสงครามตอนล่าง สู่แรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของไทย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย เผยความสำเร็จแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 15 ของประเทศ เกิดจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำจืดสำคัญ คู่ขนานไปกับการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมชูโมเดลต่อยอดความสำเร็จสู่พื้นที่หนองหาร จังหวัดสกลนคร โดยการสนับสนุนของธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย
นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทย กล่าวถึงการประกาศรับรองพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาซึ่งมีผลย้อนหลัง 1 ปีหลังจากที่มีการยื่นเอกสารไปยังคณะกรรมการอนุสัญญาแรมซาร์ โดยระบุว่าการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ครั้งนี้ ถือความสำเร็จที่น่ายินดี เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่การทำงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เกิดจากความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติของอนุสัญญาฯ ซึ่งปัจจุบัน มีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าร่วมเป็นภาคีรวม 171 ประเทศ
“ทรัพยากรน้ำในโลกของเรานี้ มีเพียง 2.5% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด และส่วนใหญ่น้ำจืดมีสภาพเป็นน้ำแข็ง หรือน้ำใต้ดิน ดังนั้น น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างเช่น แม่น้ำ ทะเลสาปต่างๆ จึงถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องอิงอาศัยเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ WWF ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนและเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์”
ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำเริ่มต้นทำงานในพื้นที่จังหวัดนครพนมมาตั้งปี พ.ศ.2559 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2561 หลังจากนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงประสานงานกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อผลักดันให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเพื่อเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “แรมซาร์ไซต์” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2562 จากนั้น สผ. ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2563 ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 2,420 ของโลก และเป็นลำดับที่ 15 ของประเทศไทย
นายพุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่เกือบ 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยคิดเป็น 6-7% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 23 ล้านไร่ เรายังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 47 แห่ง อีก 19,200 กว่าแห่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น ในขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำอีก 28 แห่งเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟู”
อนึ่ง การทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่างได้รับการสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือจากธนาคารเอชเอสบีซี (ประเทศไทย) ภายใต้โครงการ HSBC Water Programme โดยธนาคารเอชเอสบีซีถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศไทยที่มีส่วนร่วมในการทำงานอนุรักษ์แหล่งน้ำจืดสำคัญ จนกระทั่งได้รับการประกาศความสำเร็จเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่าธนาคาร เอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับโลกและธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการดำเนินกิจกรรมและให้ความสำคัญด้านการพัฒนาการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ
“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่นำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม โดยความร่วมมือกับ WWF-ประเทศไทย จนได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่แรมซาร์แห่งที่ 15 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเอชเอสบีซีที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ NGO และชุมชนท้องถิ่นที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน ธนาคารเอชเอสบีซีตระหนักดีว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพย่อมนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่โครงการดังกล่าวแล้ว ธนาคารฯยังส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมหลากหลายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อให้พนักงานเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำ ตลอดจนการตอบแทนสังคมและชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ เราเชื่อว่า การได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่รมซ่า แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างการอนุรักษ์และรู้จักใช้ทรัพยากรจากแหล่งน้ำอย่างเล็งเห็นคุณค่าโดยชุมชนและเพื่อชุมชน ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
พื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และนับเป็นสาขาของแม่น้ำโขงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ขวางกั้นตลอดลำน้ำ ทำให้ปลาอย่างน้อย 124 ชนิดสามารถว่ายน้ำได้อย่างอิสระ อีกทั้ง ทีนี้ ยังมีพันธุ์พืชอีกกว่า 208 ชนิด และเป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนมากกว่า 240,000 ชีวิตที่พักอาศัยอยู่ตลอดลำน้ำที่มีระยะทาง 92 กิโลเมตร
ความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม คือ มีระบบนิเวศอันหายาก ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก
WWF ประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากธนาคารเอชเอสบีซี (ประเทศไทย) ร่วมขับเคลื่อนงานฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศรอบแม่น้ำสงครามตอนล่าง ใน 2 อำเภอของจังหวัดนครพนม คือ อำเภอท่าอุเทน และอำเภอศรีสงคราม พร้อมประสานความร่วมมือกับ 49 ชุมชน ที่พักพิงอยู่ในพื้นที่สามหมื่นกว่าไร่ โดยเน้นประชาสัมพันธ์กิจกรรมบนบก เช่น การทำเกษตรอย่างยั่งยืน การลดใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งอาจปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ รวมถึงการจัดการขยะและของเสียที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำด้วย
นายยรรยง ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง WWF ประเทศไทย กล่าวว่า “แม่น้ำสงคราม มีความสำคัญมากในเชิงระบบนิเวศ เป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของแม่น้ำโขง คือ ช่วยเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารด้านโปรตีนจากปลา หล่อเลี้ยงประชากรมากกว่า 60 ล้านคนใน 4 ประเทศ ดังนั้น การที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของประเทศไทย และแห่งที่ 2,420 ของโลกนั้น จะช่วยป้องกันการบุกรุกพื้นที่ และช่วยสร้างความชัดเจนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ได้อย่างชาญฉลาด และยั่งยืนต่อไป”
ปัจจุบัน WWF ประเทศไทย ขยายความสำเร็จจากการทำงานอนุรักษ์ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง สู่การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร โดยพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหารได้รับการจัดลำดับให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ เพราะเป็นทั้งแหล่งน้ำผิวดินในการอุปโภคและบริโภคของชุมชนเมืองสกลนคร พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาร มีพื้นที่ 77,000 ไร่ ประชากรอาศัยอยู่โดยรอบ 240,327 คน 80,750 ครัวเรือน พบปลาพื้นถิ่น อย่างน้อย 133 ชนิด และนกอย่างน้อย 156 ชนิด นอกจากนี้ยังมีการพบพันธุ์ไม้น้ำ อย่างน้อย 54 ชนิด และ พืชบก อย่างน้อย 136 ชนิด