ซีพีเอฟ ใส่ใจสมดุลสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
วันที่ 4 มิถุนายน 2563 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสู่เป้าหมาย“ครัวของโลก” เน้นกระบวนการผลิตอาหารใส่ใจสมดุลธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการลดการสูญเสียตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Ecoomy) เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทดแทน การจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในภาวะที่โลกเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 เป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการฟื้นฟูจากการหยุดหลากหลายกิจกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งจากกิจกรรมของมนุษย์ ระบบขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มลพิษลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมา เราไม่สามารถจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนได้ หากยังใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และสร้างผลกระทบต่างๆ นำไปสู่การเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วของสิ่งแวดล้อมโลก
ไม่ว่าโรคระบาดโควิด 19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไรก็ตาม การปกป้องและดูแลสมดุลสิ่งแวดล้อม ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟ ภายใต้ วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” เพื่อส่งมอบอาหารคุณภาพ สะอาด และปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) บริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่า ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นและส่งเสริมการใช้วัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)
“ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ของทุกปี ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก เราให้ความสำคัญกับอาหารทุกคำที่บริโภคต้องปลอดภัย และมาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเราตระหนักดีว่าสมดุลของชีวิตมาจากสมดุลของธรรมชาติที่ทุกคนต้องออกมาช่วยปกป้องและรักษาให้เหมือนกับที่ทุกคนดูแลตัวเองในทุกๆวัน ” นายวุฒิชัย กล่าว
ซีพีเอฟ ใช้ทรัพยากรน้ำตลอดกระบวนการผลิตบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งบางสระเก้าและฟาร์มร้อยเพชร นำระบบไบโอฟลอค(Bio-Floc)ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถบำบัดสารละลายไนโตรเจนที่เกิดจากของเสียที่ขับถ่ายจากกุ้ง ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในระหว่างการเลี้ยง ทำให้การใช้น้ำลด 70 % เทียบกับการเลี้ยงกุ้งโดยทั่วไป และนำเทคโนโลยี Ultra Filtration (UF) กรองน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว หมุนเวียนกลับมาใช้เลี้ยงกุ้งมากกว่า 90 % เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยในปี 2563 บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้บรรจุอาหารในประเทศไทยสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (reusable) หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) แล้ว 100% และในปีนี้ ยังได้ดำเนินการเพื่อลดการสูญเสียอาหารและการจัดการขยะอาหารในกระบวนการและห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร โดยเริ่มโครงการนำร่องในธุรกิจไก่เนื้อ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดเพื่อเป็นต้นแบบของการดำเนินงาน และจะขยายผลไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ต่อไป
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯมุ่งมั่นมีส่วนร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 26 % ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพลังงานจากชีวมวล ซึ่งโรงงานอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำนำวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในหม้อไอน้ำ โดยตั้งเป้ายกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปี 2565 โครงการพลังงานจากก๊าซชีวภาพ ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั้งหมด นำน้ำเสียและมูลสัตว์ นำมาบำบัดผ่านระบบบำบัดน้ำเสีย ได้ก๊าซชีวภาพสามารถนำไปผลิตไฟฟ้ากลับมาใช้ภายในสถานประกอบการ
โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารแปรรูป โรงงานอาหารสำเร็จรูป และศูนย์กระจายสินค้า รวม 24 แห่ง ติดตั้งแผง Solar PV บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในกระบวนการผลิต โดยมีกำลังการผลิตทั้งหมด 15 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพภายในปี 2563 ทั้งนี้ ผลจากการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนตลอดกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้ในปี 2562 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 425,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ในด้านสังคม บริษัทฯ ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ” อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ในพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 5,971 ไร่ (ปี 2559-2563) ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนจากการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าไม้ 39,690 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
สิ่งที่ซีพีเอฟดำเนินโครงการต่างๆเหล่านี้ เป็นความมุ่งมั่นมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน