ส.ป.ก. ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19
หาตลาดกระจายผลผลิตและสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นทุนหมุนเวียน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ได้จัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ มอบหมายส.ป.ก.จังหวัดให้รวบรวมและวิเคราะห์ประเภทของสินค้าที่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินไม่สามารถจำหน่ายได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ส่งออกไม่ได้และกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลงพบว่า สินค้าที่ได้รับผลกระทบมีทั้งพืชผักผลไม้ สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป โดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้หาช่องทางจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรี อุทัยธานี และกาญจนบุรีนำพืชผักปลอดภัยจากสารพิษมาจำหน่ายที่ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และส.ป.ก. ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท ระหว่างวันอังคารถึงวันพฤหัสบดีในเวลาราชการ รวมถึงตลาดประสาน อ.ต.ก. เขตจตุจักรด้วย ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อส.ป.ก. จังหวัดได้ นอกจากนี้ได้เปิดช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์ที่ www.alro.go.th/coopshop
นายวิณะโรจน์กล่าวต่อว่า เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวนหนึ่งเป็นลูกหนี้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงออกมาตรการลดภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรรายเดิมที่มีหนี้ครบกำหนดชำระในปี 2563 ด้วยการผ่อนผันการชำระเงินกู้รายงวด ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ ผ่อนผันการจัดเก็บค่าเช่าซื้อที่ดิน ขยายเวลาการจัดเก็บค่าเช่าซื้อที่ดิน ลดหรืองดเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินรายงวดได้ไม่เกิน 1 ปี ลดหรือยกเว้นค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อีกมาตรการหนึ่งคื สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรรายใหม่หรือเกษตรกรรายเดิมที่ไม่มีหนี้ค้างชำระเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในช่วงวิกฤตินี้ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมดังนี้ สำหรับเงินกู้ระยะสั้นกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี กู้ยืมได้รายละไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ร้อยละ 0 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 ร้อยละ 1 ต่อปี หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เงินกู้ระยะปานกลาง กำหนดชำระคืนภายใน 3 ปี กู้ได้รายละตั้งแต่ 20,001-50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ร้อยละ 0.50 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 ร้อยละ 1 ต่อปี หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
“ช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์นั้นเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมาก อีกทั้งทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าพืชผักที่มีคุณภาพส่งตรงจากผู้ผลิตโดยตรง ทั้งนี้ส.ป.ก.ยึดมั่นในหลักการดำเนินงานที่ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” นายวิณะโรจน์กล่าว