ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชี้จัดส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลังตรวจสอบไม่ให้ซ้ำซ้อนกับสิทธ์รับความช่วยเหลือจากมาตรการอื่นๆ ของรัฐเพิ่มอีก 700,000 คนวันนี้
จากนั้นจะส่งธ.ก.ส. จ่ายเงินเยียวยาให้เร็วที่สุด ย้ำดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างครอบคลุมดและทั่วถึง
โดยยึดตามติครม. และเป็นไปอย่างโปร่งใส
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ได้ส่งรายชื่อเกษตรกรอีก 700,000 รายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตรวจสอบความซ้ำซ้อน เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วจะส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทันทีเพื่อจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรให้เร็วที่สุด ทั้งนี้รายชื่อเกษตรกรที่ส่งให้สศค. กลุ่มแรกนั้นมี 8.33 ล้านราย ซึ่งสศค. ได้แจ้งรายชื่อที่ซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว 96,677 ราย ทะเบียนประกันสังคม 329,114 ราย ทะเบียนข้าราชการบำนาญ 84,471 ราย และทะเบียนข้าราชการประจำ 91,426 ราย รวมที่ซ้ำซ้อนทั้งสิ้น 601,688 ราย จึงคงเหลือเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ 7.77 ล้านราย โดยธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชุดแรกไปแล้ว 3.2 ล้านราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,114.76 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนเงินให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจนครบ 3.3 ล้านราย ส่วนชุดต่อมา 3.4 ล้านรายทยอยจ่ายตั้งแต่วันนี้ถึง 29 พฤษภาคม และชุดที่ส่งไปคัดกรองล่าสุด 700,000 รายนั้น คาดว่า จะจ่ายได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมเช่นกัน
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า สำหรับข้าราชการประจำที่มีทะเบียนเกษตรกรนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ให้ความเห็นแล้วว่า ไม่สมควรจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ส่วนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ข้าราชการ แต่ทุกกรณีที่มีข้อสงสัย ทางคณะกรรมการกลั่นกรองจะเสนอแนะมายังกระทรวงเกษตรฯ และคาดว่า จะเสนอครม. พิจารณาลงมติต่อไป เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส
สำหรับกลุ่มต่อไปที่จะส่งให้สศค. ตรวจสอบคือ กลุ่มที่ขึ้นและปรับปรุงทะเบียนระหว่างวันที่ 1-15 พฤษภาคมซึ่งตามแผนงานจะได้รับเงินประมาณปลายเดือนพฤษภาคม กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่ผ่อนปรนการเพาะปลูกให้ถึง 30 มิถุนายนเนื่องจากรอฝนคาดว่า มีประมาณ 120,000 ราย จะได้รับเงินภายใน 31 กรกฎาคม ทั้งนี้ธ.ก.ส. ได้แจ้งผลการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรมายังกระทรวงเกษตรฯ ทุกวันซึ่งพบปัญหาบัญชีธนาคารปิดไปแล้วบ้าง หรือเกษตรกรเสียชีวิตบ้าง แต่จำนวนที่ได้รับรายงานไม่ได้มากถึงกว่า 100,000 คนตามข่าวลือเนื่องจากทะเบียนเกษตรกรที่เป็นฐานข้อมูลเป็นทะเบียนปี 2562 และที่ปรับปรุง 2563 ดังนั้นจำนวนเกษตรกรที่เสียชีวิตในปีเดียวไม่น่ามากตามที่ลือกัน ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นสิ่งยืนยันตัวตน ดังนั้นไม่มีการโอนเงินให้ “ผี” หรือคนที่นำชื่อผู้เสียชีวิตมารับแทนแน่นอน
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า หากเกษตรกรรายใดซึ่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากสาเหตุต่างๆ สามารถอุทธรณ์ได้ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 8 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอและจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัด สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 – 4 สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหรือสาขาใกล้บ้าน และ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศบูรณาการกันเปิดให้บริการรับ “อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร” โดยไม่แบ่งแยกรับอุทธรณ์เฉพาะเกษตรกรที่หน่วยงานนั้นๆ รับขึ้นทะเบียนคือ หากเป็นเกษตรกรด้านปศุสัตว์ แต่บ้านอยู่ใกล้สำนักงานประมงอำเภอ/จังหวัดก็สามารถไปยื่นอุทธรณ์ได้ เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องแล้วส่งเข้าสู่ระบบอุทธรณ์ของกระทรวงเกษตรฯ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรเพื่อไม่ต้องเดินทางไกล ลดความแออัดที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนี่ง ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย