อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุสถานการณ์ การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้ามีแนวโน้มลดลง ระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาด 8 จังหวัดครบในอีก 2 วันข้างหน้า

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุสถานการณ์ การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้ามีแนวโน้มลดลง ระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาด 8 จังหวัดครบในอีก 2 วันข้างหน้า

 

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว กล่าวว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ได้ระดมฉีดวัคซีน 4,000 โดสให้ม้าเพื่อป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sicknesses : AHS) ใน8 จังหวัดซึ่งมีการระบาดของโรคได้แก่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี ชัยภูมิ ราชบุรี สระแก้ว และสระบุรี โดยการฉีดวัคซีนนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการฉีดวัคซีนเชื่อเป็นคือ ฉีดเฉพาะม้าที่แข็งแรง ยังไม่ติดเชื้อไวรัส AHS หรือป่วยด้วยโรคอื่นเพื่อให้ผลการฉีดมีประสิทธิภาพมากที่สุด วัคซีนที่นำเข้ามาจากประเทศแอฟริกาใต้มี 4,000 โดส ซึ่งฉีดในรัศมี 50 กิโลเมตรของจุดเกิดโรค จากการระดมปฏิบัติการอย่างเต็มที่จะฉีดได้ครบในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้ามีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนสัตว์ป่วยตายใหม่ลดลง ขณะนี้มีม้าป่วยสะสม 545 ตัว ม้าตายสะสม 511 ตัว โดยรายงานม้าป่วยตายใหม่ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 คือ พบม้าป่วย 1 ตัวในจังหวัดนครราชสีมาและตาย 2 ตัวในจังหวัดนคราชสีมาและเพชรบุรีเท่านั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ในช่วงที่การระบาดของโรคเนื่องจากมีแมลงดูดเลือดที่สามารถบินได้ระยะไกลเป็นพาหะ อีกทั้งในช่วงที่มีมรสุม ลมพัดแรง และฝนตกหนักจะทำให้แมลงเหล่านี้เพาะพันธุ์มากขึ้น

ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้ผู้เลี้ยงม้าป้องกันไม่ให้แมลงดูดเลือดไปกัดม้า โดยใช้ยาฆ่าแมลงกลุ่ม Alphacypermethrin Pyrethroid หรือยาฆ่าแมลงกลุ่มอื่นที่เหมาะสมรมควัน หรือพ่นมุ้ง และใช้ยาไล่แมลง Etofenprox หรือยาฆ่าแมลงกลุ่มอื่นที่เหมาะสมพ่นบนตัวม้า ที่สำคัญต้องกางมุ้งให้ม้าด้วย หมั่นกำจัดแมลงและแหล่งเพาะพันธุ์แมลงเช่น มูลม้า โดยทำความสะอาดสถานที่เลี้ยงม้าให้แห้งอยู่เสมอ และใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสม เช่น Cypermethrin การพาม้าเดินให้พาเดินในช่วงเวลากลางวัน รวมถึง 2 ชั่วโมงหลังอาทิตย์ขึ้น และ 2 ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตก โดยพ่นยาไล่แมลงก่อนพาเดิน , หลีกเลี่ยงการนำหญ้าฟางจากพื้นที่มีการระบาดของโรค ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรค อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เช่น ขลุมม้า ที่ปาดกีบ เหล็กปาก ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Glutaraldehyde ก่อนและหลังการใช้งาน  รวมถึงคอกเลี้ยง บุคคล รถขนอาหาร และยานพาหนะที่เข้า-ออกฟาร์ม งดการนำพ่อพันธุ์ม้าจากฟาร์มอื่นเข้ามาผสมในช่วงที่มีการระบาดของโรค ขยะติดเชื้อที่มีการปนเปื้อนเลือด หรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ให้ใส่ถุงพลาสติก พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วนำไปฝังกลบ หลีกเลี่ยงการนำม้าไปอาบน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะหรือนำน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะมาเลี้ยงม้า หากมีม้าสงสัยว่าป่วยได้แก่ มีไข้ (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) หรือตายให้แจ้งสัตวแพทย์ที่ปรึกษาฟาร์มและเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตทันทีเพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาสาเหตุการตาย ส่วนวิธีการกำจัดซากม้าให้ฝัง โดยส่วนบนสุดของซากอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินอย่างน้อย 50เชนติเมตร โรยปูนขาวทับ และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ระวังไม่ให้สัตว์อื่นมาสัมผัสซากหรือสิ่งคัดหลั่งจากซาก ที่สำคัญห้ามฝ่าซากชำเหละหรือจำหน่าย จ่ายแจก หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

“ขอความร่วมมือจากผู้เลี้ยงม้ายึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นการควบคุมป้องกันโรคและลดความเสียหายจากการที่มีม้าป่วยตายเพิ่ม รวมทั้งจะได้รับคืนสถานะปลอดโรค AHS จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) โดยเร็วที่สุด” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว