ภาคเอกชน เชื่อ สุริยะ ไม่กลับมติแบนสาร หากกระทรวงเกษตรฯมีแผนรองรับชัดเจน ชี้แบนคลอร์ไพริฟอส ยังมีสารอื่นทดแทน แต่ พาราควอต ยังไม่มีที่ให้ผลวัชพืชตายเฉียบพลัน ร้องกรมวิชาการเกษตร อนุญาตนำเข้าสารไกลโฟรเซตเพิ่ม3หมื่นตัน

ภาคเอกชน เชื่อ สุริยะ ไม่กลับมติแบนสาร หากกระทรวงเกษตรฯมีแผนรองรับชัดเจน

ชี้แบนคลอร์ไพริฟอส ยังมีสารอื่นทดแทน แต่ พาราควอต ยังไม่มีที่ให้ผลวัชพืชตายเฉียบพลัน ร้องกรมวิชาการเกษตร อนุญาตนำเข้าสารไกลโฟรเซตเพิ่ม3หมื่นตัน

 

 

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร  เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจคงมติเดิมแต่ยืดเวลาการแบนสาร พาราควอตและคลอไพริฟอสออกไปจนถึงสิ้นปี หรืออาจแบนทันทีในเดือนมิถุนายน หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการรองรับชัดเจนเชื่อว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการจะไม่กลับมติ และเสียงที่สนับสนุน ทั้งฝั่งกระทรวงเกษตรฯ 4 คน กระทรวงสาธารณสุข 4 คน และ ผู้ทรงคุณวุฒิที่สนับสนุนจะไม่ยอม

ซึ่งในส่วนของสมาคมไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่มเติมเนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้ขยายเวลาในการระบายสินค้า พาราควอตและคลอไพริฟอส ออกมาแล้ว 6 เดือนทำให้สารที่มีในตลาดเหลือน้อย และหากแบนคลอไพริฟอสก็ยังมีสารอื่นทดแทนหลายชนิดแต่ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้น

ส่วนพาราควอต จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสารใดที่มาทดแทนฉีดแล้วให้ผลทันที ซึ่งชาวไร่นิยมใช้แต่หากใช้ไกลโฟเซตสามารถทดแทนได้ร้อยละ 60-70 และใช้เวลากว่าวัชพืชจะเหี่ยวตาย  ซึ่งไกลโฟเซต ขณะนี้ยังสามารถใช้ได้ โดยรัฐมีมาตรการจำกัดการใช้ แต่ขณะนี้ปริมาณสารดังกล่าวเหลือไม่ถึง 10,000 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ที่ 50,000 ตัน โดยเดือนที่ผ่านมาผู้นำเข้าสารดังกล่าวกว่า 20 ราย ได้ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อขออนุญาตนำเข้า 30,000 ตัน เพื่อรองรับฤดูกาลผลิตใหม่ซึ่งการนำเข้าจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะอนุญาตนำเข้าหรือไม่  ปริมาณสารที่ลดลง ส่งผลให้ ราคาสารไกลโฟเซตมีราคาสูงขึ้น ขณะนี้ราคาปรับขึ้นแกลอนละ 100 บาท จากเดิมแกลอน ละ 320 เป็น 420 บาท ซึ่งหากยังไม่มีการอนุญาตนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรแน่นอน