เกษตรกรทั่วประเทศ แห่สมัครเป็นแรงงานชลประทานกว่า 28,600 คนแล้ว ตามโครงการสร้างรายได้ บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 คน พร้อมเดินหน้าจ้างอย่างต่อเนื่อง หลังครม. มีมติต่อพ.ร.ก. ฉุกเฉิน

เกษตรกรทั่วประเทศ แห่สมัครเป็นแรงงานชลประทานกว่า 28,600 คนแล้ว ตามโครงการสร้างรายได้ บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 คน

พร้อมเดินหน้าจ้างอย่างต่อเนื่อง หลังครม. มีมติต่อพ.ร.ก. ฉุกเฉิน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ตามที่ที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมชลประทานจัดทำโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 4,497.59 ล้านบาทซึ่งสามารถจ้างแรงงานได้ทั้งสิ้น 88,838 คนนั้น จากการเปิดรับสมัครทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดสะสมในการจ้างแล้ว 28,623 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของแผน โดยใช้วงเงิน 330.47 ล้านบาท จังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 2,255 คน จังหวัดสุพรรณบุรี 1,487 คน และจังหวัดนครพนม 1,481 คน

ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบถึงโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยสร้างรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อครม. มีมติใช้พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่ออีก 1 เดือน ขณะนี้ยังสามารถจ้างได้อีกประมาณ 60,000 คน หลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นเกษตรกรและสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานที่ว่าจ้าง นอกจากนี้ยังขยายการจ้างประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างและมีแรงงานคืนถิ่นจำนวนมาก และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่น้อยกว่าเป้าหมายสามารถ จ้างเกษตรกร/แรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำตามลำดับเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างทั่วถึง โดยจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 อันดั ได้แก่ เชียงใหม่ 2,255 คน สุพรรณบุรี 1,487 คน และนครพนม 1,481 คน

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวถึงความก้าวหน้าของโครงกาในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้ง 5 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับจ้างแรงงานเกษตรกรประมาณ 280 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 7,000 ราย ปัจจุบันทั้ง 5 จังหวัดได้จ้างแรงงานไปแล้วกว่า 4,300 ราย คิดเป็นร้อยละ 58 ของจำนวนแรงงานเกษตรกรที่จ้าง จังหวัดที่มีการจ้างแรงงานเกษตรกรมากที่สุดในขณะนี้คือ ร้อยเอ็ดและมหาสารคามซึ่งจ้างแรงงานเกษตรกรไปแล้วมากกว่าร้อยละ 95 ส่วนชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์จ้างไปแล้วกว่าร้อยละ 50

สำหรับงานตามโครงการได้แก่ ปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรับน้ำเนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งกรมชลประทานห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและการระบาดของโรค COVID-19 จึงมีมาตรการช่วยเหลือให้มีรายได้ ทั้งนี้เกษตรกรที่สมัครเข้าทำงานจะได้รับค่าจ้างวันละ 377.85 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท ระยะเวลาการจ้างงาน 3-7 เดือน รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-56,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและระยะเวลา