กฟผ. มอบเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สู้โควิด19
พลเรือโทเชษฐา ใจเปี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคง กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักร กองทัพเรือ (ผอ.สง.ปรมน. ทร.) นำนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พร้อมคณะเข้ามอบเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจต่าง ๆ ของทางโรงพยาบาลฯ ได้แก่ เงินบริจาคจำนวน 500,000 บาท ตู้ความดันเก็บสิ่งส่งตรวจประจุลบ 1 ตู้ ที่กดแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือแบบเหยียบ 5 ชุด และเจลแอลกอฮอล์ 5 แกลลอน ซึ่งเป็นไปตามโครงการ “กฟผ.ร่วมใจต้านภัย COVID-19” ในการให้ความช่วยเหลือต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น โดยมี พลเรือตรี เกิดศักดิ์ วีระโยธิน ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้รับมอบ ณ โรงพยา บาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
โดย พลเรือตรี เกิดศักดิ์ วีระโยธิน ผอ. รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณในความมีน้ำใจของ กฟผ. ที่มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลฯ ในวันนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลฯ เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ในการดูแลผู้เจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ กล่าวว่าด้วยความห่วงใยบุคคลากรทางการแพทย์ของกองทัพเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รพ. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และ นพ.อาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่ต้องดูแลอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและเข้าเก็บตัวเพื่อรอดูอาการในพื้นที่สัตหีบจากเชื้อไวรัสโควิด 19 กฟผ.จึงได้นำอุปกรณ์ทางการแพทย์ มามอบให้ในวันนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ของการก้าวผ่านเชื้อไวรัส โควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ไปให้ได้ ทั้งนี้ กฟผ. ได้พัฒนาตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวกและความดันลบ ภายใต้คำแนะนำและการวิจัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีลักษณะสี่เหลี่ยมทรงสูง ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และสูง 2 เมตร ผลิตจากแผ่นอะคริลิกใส หนา 6 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดและความหนาที่ศึกษาแล้วว่ามีความแข็งแรงต่อการใช้งาน สะดวก สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ภายในตู้มีช่องถุงมือปิดซีลอย่างมิดชิดเพื่อใช้เก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วย สำหรับการใช้งานตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวก บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันลบ บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้านนอกและผู้ป่วยอยู่ภายในตู้ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายออกมาในอากาศได้โดยตรง ซึ่งจะมีระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อก่อนการปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก สามารถสร้างความมั่นใจให้กับบุคลา กรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี
นิราช ทิพย์ศรี /นันทพล ทิพย์ศรี อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี