สภากาชาดไทยร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยงข้อง เร่งหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
หวั่นควบคุมโรคสงบ แล้วกลับระบาดใหม่ ซ้ำรอยสิงคโปร์
นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ประชุมกับผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และมหาดไทยเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชา แรงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนต่อกระทรวงแรงงานมีประมาณ 3.2 ล้านคน แต่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนนั้นไม่ทราบจำนวนแน่นอน จากการประสานงานกับองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานต่างด้าวหลายสิบองค์กรพบว่า แรงงานต่างด้าวในไทยมีอายุ 20-40 กว่าปี หากติดเชื้อบางรายอาจแสดงอาการไม่มากและไม่ได้ไปพบแพทย์ แต่จะเป็นพาหะแพร่ไปยังบุคคลอื่นได้
จาการตรวจสอบในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นจำนวนมากพบว่า มีบางส่วนที่กลับประเทศไปก่อนปิดด่านพรมแดน แต่ที่ยังคงอยู่ในไทยมีมากและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่น ลดชั่วโมงทำงาน ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น จึงเช่าบ้านอยู่ด้วยกันอย่างแออัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แรงงานเหล่านี้แม้รู้สึกไม่สบาย แต่การเดินทางมาตรวจและรักษาในสถานพยาบาลยากลำบากเนื่องจากไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล ในจังหวัดที่ lock down รถสาธารณะลดการให้บริการ นอกจากนี้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายจะไม่ต้องการแสดงตัวต่อหน่วยงานรัฐเพราะเกรงจะถูกส่งกลับประเทศ หากไม่กำหนดแนวทางป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด อาจเกิดการระบาดระลอกที่ 2 เหมือนสิงคโปร์ซึ่งเกิดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ
นายแพทย์พิชิตกล่าวต่อว่า สภากาชาดไทยพร้อมทำหน้าที่เติมเต็มการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ จากการหารือเบื้องต้นมีกลไกที่ทำได้ทั้งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจดูสภาพการทำงานว่า มีการป้องกันโรคที่ดีเพียงพอหรือไม่ ขณะนี้พบว่า โรงงานใหญ่ให้ความร่วมมือดีเพราะเกรงว่า หากแรงงานติดเชื้อ ทางโรงงานจะต้องหยุดการผลิต แต่โรงงานขนาดกลางลงมาถึงขนาดเล็กยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ดังนั้นจึงสามารถให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ดูแลเป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นอกจากนี้ไทยยังมีกลไกของกรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ซึ่งทำระบบอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) มีหน้าที่เหมือนอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าว โดยเป็นแรงานต่างด้าวที่แรงงานจังหวัดร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดคัดเลือกมาทำหน้าที่อสต. แต่ยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากจำนวนอสต. ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับแรงางานต่างด้าวทั้งหมด อีกทั้งหลายผู้ทำหน้าที่อสต. ส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศเป็นระยะหรือย้ายจังหวัดทำให้ทำหน้าที่ไม่ต่อเนื่อง จากนี้ไปจึงต้องสนับสนุนทั้งการความรู้แก่อสต. และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจได้ซึ่งจะมีผลดีในระยะยาว แม้โรคโควิด-19 สงบ เหล่าอสต. จะช่วยหน่วยงานรัฐในการป้องกันการระบาดของโรคที่ไม่พบในไทยแล้ว แต่ยังเกิดในประเทศเพื่อนบ้านอยู่ได้
นายแพทย์พิชิตกล่าวว่า ในขณะที่หน่วยงานรัฐค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงานต่างด้าวให้ครอบคลุม พร้อมดูแลมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐาน สภากาชาดจะสนับสนุนในเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขอนามัยได้แก่ การล้างมือ การเว้นระยะห่าง โดยจัดทำสื่อเป็นภาษาของแรงงานต่างด้าวนั้นๆ รวมถึงสื่อสำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์เพราะแรงงานต่างด้าวเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้เพื่อติดต่อและโอนเงินกลับไปให้ครอบครัว หากพบว่า คนกลุ่มนี้อยู่เกณฑ์เสี่ยงและจำเป็นต้องกักตัวสังเกตอาการ สภากาชาดจะสนับสนุนอาหารให้เพียงพออยู่ได้ 14 วันเพื่อให้การควบคุมโรคประสบความสำเร็จ ทั้งนี้จะเริ่มต้นทำที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดแรกเนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เรียกว่า “สมุทรสาครโมเดล” เบื้องต้นมอบอุปกรณ์ป้องกันได้แก่ หน้ากากผ้า สบู่ เจลล้างมือให้เนื่องจากบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำสะอาดที่จะใช้ล้างมือโดยเฉพาะตามที่พักคนงานก่อสร้างและตลาดต่างๆ
ทั้งนี้สภากาชาดไทยพร้อมเติมเต็มในส่วนที่หน่วยราชการอาจติดขัดเนื่องจากแรงานต่างด้าวไม่สามารถใช้สวัสดิการของรัฐหลายอย่างได้ แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำจัด “รังโรค” ทุกพื้นที่ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสนับสนุนสภากาชาดไทยในภารกิจดังกล่าวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกันทั้งประเทศ