เกษตรฯ ย้ำ ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้ ให้ทำนาเมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น การจัดสรรน้ำกำหนดให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุนในระบบชลประทาน

เกษตรฯ ย้ำ ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้ ให้ทำนาเมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

การจัดสรรน้ำกำหนดให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุนในระบบชลประทาน

 

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า ได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะส่งเสริมการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

กรมชลประทาน มีนโยบายการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2563 วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำโดยส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้เป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิมยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนภาพรวมของประเทศตั้งแต่เดือนเมษายน–กันยายนจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4   ของเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม สำหรับความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศในฤดูฝนปีนี้รวม 31,903 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำอุปโภค-บริโภค 8% รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 20% เกษตรกรรม 71% และอุตสาหกรรม 1% เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาความต้องการใช้น้ำรวม 12,216 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำอุปโภค-บริโภค 10%รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 10% เกษตรกรรม 79%) และอุตสาหกรรม 1%

 

 

ทั้งนี้กรมชลประทานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศรวม 27.61 ล้านไร่แบ่งเป็น ข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ หรือ 61% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด พืชไร่-พืชผัก 540,000 ไร่ หรือ 2% และพืชอื่นๆ 10.29 ล้านไร่ หรือ 37% เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนไว้รวม 10.57 ล้านไร่แบ่งเป็น ข้าวนาปี 8.10 ล้านไร่ หรือ 77% พืชไร่-พืชผัก 130,000 ไร่ หรือ 1% และพืชอื่นๆ 2.34 ล้านไร่ หรือ 22% ของพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ย้ำแจ้งให้ประชาชนทราบสถานการณ์น้ำและแนะนำแผนแผนการปลูกข้าวนาปี โดยใน 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมพื้นที่ดอนทุ่งบางระกำให้ปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและมีปริมาณฝนเพียงพอ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันตกรวม 16 จังหวัดก็เช่นเดียวกัน ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก 8 จังหวัดให้ปลูกตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมและภาคใต้ฝั่งตะวันตก 6 จังหวัดให้ปลูกตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาที่ทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนแล้ว พื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1.15 ล้านไร่ให้ปลูกเมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มแม่กลอง 80.000 ไร่ เริ่มเพาะปลูกได้

 

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์น้ำยังนำแบบจำลอง Reservoir Operation Simulation Tool ซึ่งใช้จำลองสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขนาดใหญ่ 35 แห่ง โดยจำลองทั้งกรณีน้ำมาก น้ำปกติ และน้ำน้อย ผลการคาดการณ์กรณีน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิมยาพบว่า เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 1 พฤศจิกายน น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีรวม 50,946 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การ 27,403 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลคาดการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา   รวม 16,070 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การ 9,374 ล้าน ลบ.ม. และในลุ่มน้ำแม่กลองคาดว่า มีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อน  20,463 ล้าน ลบ.ม. และเป็นน้ำใช้การ7,186  ล้าน ลบ.ม.

นายทองเปลวกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์น้ำ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนทั้งประเทศจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% จึงย้ำการให้กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝน ปีแล้วส่งให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกัน มอบหมายให้กรมชลประทานและกฟผ. เร่งทำแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำเพื่อส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รวบรวมสรุปแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบภายในวันที่ 20 เมษายนนี้ จากนั้นจะแจ้งกระทรวงมหาดไทยรับทราบเพื่อให้ผู้ราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ถึงทุกภาคส่วนต่อไป