เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปรับรอบเวรการส่งน้ำหลังเจอวิกฤตโควิด-19 และภัยแล้งโถมกระหน่ำ ต้องปรับรอบเวรส่งน้ำให้เร็วขึ้น
เพื่อส่งน้ำไปช่วยชาวสวนลำไยในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
ขณะที่ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนแม่กวงฯ ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เท่านั้น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 61 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา-เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้ร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวง (JMC) เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
ขณะที่ประชาชนที่อยู่ทางด้านปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย พื้นที่ตำบลมะเขือแจ้ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ และตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ต้นลำไยบางส่วนใกล้ยืนต้นตายเนื่องจากขาดน้ำ กรมชลประทานและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทานเขื่อนแม่กวง(JMC) จึงมีมติให้ส่งน้ำรอบพิเศษให้แก่พื้นที่ดังกล่าวในช่วงต้นเดือน มี.ค. 63 ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีจำกัด ประกอบกับระยะทางของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอยู่ไกล การส่งน้ำในรอบเวรที่ 4 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 จึงจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีความรัดกุมมากขึ้น
ขณะที่นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การบริหารจัดการน้ำระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 (สิ้นสุดการส่งน้ำวันที่ 13 เมษายน 2563) มีปริมาณการใช้น้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 17 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 4 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตรและรักษาระบบนิเวศน์ 13 ล้าน ลบ.ม. โดยได้ส่งน้ำเข้าไปเก็บไว้ในสระชลประทานทั้ง 20 แห่ง ความจุรวมกันประมาณ 586,400 ลบ.ม. ให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน สูบน้ำไปใช้หล่อเลี้ยงลำไยและพืชสวนต่างๆ พื้นที่รวมกว่า 25,000 ไร่ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเป็นปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงฯ จะถูกใช้มากกว่าแผนที่วางไว้ แต่จะยังคงเหลือปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ต่อไปได้อีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า”
กรมชลประทาน จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝน และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเครงครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรหรือเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้ในอนาคตข้างหน้า