“ประภัตร”เร่งยกระดับฟาร์มหมูรายย่อยให้มีมาตรฐาน GAP ปลอดโรคอหิวาต์
นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ (National Standardization Body: NSB) เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกร/ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้มีการเพิ่มจำนวนมาตรฐานให้เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยจะต้องเร่งสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตรทุกชนิด อาทิ ปศุสัตว์ และพืช เป็นต้น เพื่อให้คนไทยได้ใช้สินค้า Q ที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อสุขภาพที่ดี
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเด็นพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1. การยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร ประเภทมาตรฐานทั่วไป จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานเผือก หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเห็ดกระดุม ระเบียบวิธีการวินิจฉัย Columnea latent viroid ในมะเขือเทศ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์และแนวปฏิบัติ การชันสูตรโรคกล่องเสียงและท่อลมอักเสบติดเชื้อในสัตว์ปีกและแนวปฏิบัติ และการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มกุ้งเครย์ฟิชเพื่อการบริโภคและแนวปฏิบัติ และ 2. ข้อเสนอการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับ พืชอาหาร ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ฟาร์มสุกร โดยปี 2562 ประเทศไทยมีฟาร์มเลี้ยงสุกร จำนวน 184,717 แห่ง ซึ่งมีสุกรพ่อแม่พันธุ์และสุกรขุน จำนวน 11 ล้านตัว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร ตั้งแต่ปี 2558 ไปแล้ว ซึ่ง มกอช. เห็นควรปรับปรุงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ฟาร์มสุกรมีระบบป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญในสุกร และสอดคล้องกับแผนการเฝ้าระวังและมาตรการป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) ของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับฟาร์มสุกรขนาดเล็ก โดยจัดทำมาตรฐาน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร (Good Agricultural Practices; GAP) (ทบทวน) และ 2. ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management; GFM) โดยมาตรฐานฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกร ส่งเสริมความปลอดภัยอาหารของสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากการลดปัญหายาสัตว์ตกค้าง ส่งเสริมสุขอนามัยในการเลี้ยงสัตว์ที่ดี เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญในสุกร และเพื่อเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภคอีกด้วย
ขณะที่ นางสาว จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้ออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ของทั้ง 6 มาตรฐาน รวมทั้งสิ้น 1,211 ฉบับ และผลการดำเนินการอายัดสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ซึ่งมีการยึดอายัดใน 1 มาตรฐาน คือ มาตรฐานบังคับ เรื่อง ถั่วลิสง พบว่ามีการอายัดเมล็ดถั่วลิสงกะเทาะเปลือกนำเข้า จำนวนทั้งหมด 174 ครั้ง เนื่องจากมีผลการตรวจสอบปริมาณอะฟลาทอกซินในเมล็ดถั่วลิสง เป็นไปตามมาตรฐานบังคับ จำนวน 142 ครั้ง และไม่เป็นไปตามมาตรฐานบังคับจำนวน 32 ครั้ง และได้มีคำสั่งดำเนินการกับเมล็ดถั่วลิสงซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานบังคับที่ถูกอายัดไว้ ดังนี้ ส่งสินค้ากลับคืนต่างประเทศ จำนวน 28 ครั้ง ปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 2 ครั้ง และทำลายสินค้า จำนวน 2 ครั้ง