“มนัญญา” เล็งเก็บภาษีสารเคมีการเกษตร นำมาใช้วิจัยพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พร้อมเร่งดันร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ควบคุมโรงงานผลิตและบรรจุสารเคมีให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบ
เพื่อป้องกันการผสมสารอื่นที่ไม่เป็นไปตามทะเบียนหรือเจือจาง หวั่นเกษตรกรถูกหลอกขายและอาจเป็นอันตรายเมื่อนำไปใช้
น.ส. มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จะเร่งหารือกรมศุลกากรให้พิจารณาการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร ที่ผ่านมาสารเคมีต่างๆ ที่นำเข้ามา ได้รับการยกเว้นภาษีโดยระบุว่า เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วยซึ่งไม่มีการเก็บภาษีส่งออกเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์จะนำรายได้จากการเก็บภาษีมาใช้วิจัยพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะเดียวกับการเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่ แล้วนำมาใช้ส่งเสริมการดูและรักษาสุขภาพประชาชน
ส่วนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มอบหมายให้กรมวิชาการยกร่างเพื่อใช้ควบคุมโรงงานผลิตและแบ่งบรรจุสารเคมีทางการเกษตร โดยนำมาตรฐาน ISO มากำกับเพื่อไม่ให้มีการลักลอบแบ่งบรรจุ ซึ่งที่ผ่านมาพบ ผู้ประกอบการผสมสารเคมีที่สำคัญสำหรับกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชเจือจางหรือผสมสารอื่นที่ไม่เป็นไปตามทะเบียน รวมทั้งกำหนดให้โรงงานต้องมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพและความเป็นพิษของสารเคมีได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้หากยกร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ เสร็จสมบูรณ์แล้วจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อทราบ จากนั้นจะนำเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามเพื่อบังคับใช้ต่อไป
น.ส. มนัญญากล่าวต่อว่า สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรรายงานการดำเนินการสารเคมี 3 ชนิดได้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายทางเกษตร โดยต้องรายงานทุก 15 วันเพื่อจะได้ทราบว่า พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสซึ่งเลื่อนการแบนในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 สตอกลดลงไปแค่ไหน ส่งออกหรือจำหน่ายแก่เกษตรกรไปจำนวนเท่าไร ซึ่งสำหรับ 2 สารนี้ไม่อนุญาตให้นำเข้าแล้ว ส่วนไกลโฟเซตซึ่งมีมติไม่แบน จากนี้ไปต้องลดปริมาณการนำเข้าลงให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการใช้