เกษตรฯ เร่งแก้แมลงดำหนาม กินต้นมะพร้าวหนัก หลังชาวบ้านร้องเรียน
วันที่ 12 ธ.ค.62 นายนันทปรีชา คำทอง ผู้แทนสภาเกษตรตำบลช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวสวนมะพร้าวได้ร้องเรียนแมลงดำหนามระบาดหนักกัดกินยอดมะพร้าวเสียหาย ในหมู่ที่ 4 ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย และได้ลงดูพื้นที่จากนั้นรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ต่อมา นายวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยกลุ่มอารักขาพืช ร่วมกับเกษตรอำเภอบางสะพานน้อย ลงพื้นที่สำรวจ โดยการนำของผู้ใหญ่บ้าน ณ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านไร่ในตำบลช้างแรก มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมรับฟัง รวมทั้งเกษตรกรเจ้าของแปลงมะพร้าวที่มีการระบาดของแมลงดำหนามในข่าวดังกล่าว คือ นาวสาวกานต์สิริญ ตั้งพงศาวลีกุล ซึ่งปลูกมะพร้าว จำนวน 20 ไร่ เข้าร่วมรับฟังด้วย
โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรชี้แจงให้กลุ่มเกษตรกรรับทราบ เนื่องจากแมลงดำหนามซึ่งถือว่าเป็นศัตรูมะพร้าวประจำถิ่น จะพบการระบาดของแมลงดำหนามทั้งปี และจะเริ่มระบาดระดับรุนแรงช่วงฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง ช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน การระบาดของแมลงดำหนามจะไม่ทำให้มะพร้าวยืนต้นตาย หากไม่มีการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวร่วมด้วย จากการสำรวจยังไม่พบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อย
อย่างไรก็ดีกรณีพบการระบาดของแมลงดำหนามในระดับรุนแรง ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ มะพร้าวต้นเตี้ยใช้สารเคมี cartap hydrochloride 4% GR ห่อใส่ถุงผ้าอัตรา 30 กรัม/ต้น เหน็บไว้ที่ยอดมะพร้าว มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นาน 1 เดือน มะพร้าวต้นสูงใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC เจาะเข้าต้น อัตรา 50 ซีซี/ต้น มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นานมากกว่า 2 เดือน ร่วมกับการใช้แตนเบียนแมลงดำหนาม ได้แก่ แตนเบียนอะซีโคเดส และแตนเบียนเตตระสติคัส เป็นแตนเบียนที่มีประสิทธิภาพ แต่มีข้อจำกัดคือการผลิตขยายของเกษตรกรทำได้ยาก ซึ่งได้แจ้งขอรับการสนับสนุนจาก ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี
พิสิษฐ์ รื่นเกษม ข่าวประจวบคีรีขันธ์