จังหวัดเลย และป.ป.ช.เลย จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล จังหวัดเลย หวังให้คนทำดีเพื่อส่วนรวม ลดความละโมบโลภมาก ไม่เบียดเบียนสังคม
นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเลย ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเลย กล่าวว่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 เวลา 07.30 – 12.00 น. จังหวัดเลยร่วมกับ ป.ป.ช.เลย ได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล จังหวัดเลย ณ บริเวณถนนคนเดินและริมแม่น้ำโขง อ.เชียงคาน จ.เลย โดยมีกิจกรรมฟังธรรมในหัวข้อ “การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต” โดยพระมหาสุริยา สุนทรธมฺโม (วัดสีลธราราม) การประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริตร่วมกันของผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน เยาวชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและนักท่องเที่ยว การร่วมกันทำความดีด้วยการทำความสะอาดถนนคนเดิน การปลูกต้นไม้ริมแม่น้ำโขงและปล่อยพันธุ์ปลาลงแม่น้ำโขง รวมทั้งชมการแสดงโปงลางของโรงเรียนชุมชนบ้านนาบอน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
ผอ.ปปช.เลย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา ทั้งปีเราได้รับเรื่องร้องเรียนหน่วยงานของรัฐกระทำการทุจริตหรือปฏิบัติ/ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเรารับไว้ตรวจสอบเบื้องต้น 123 เรื่อง เมื่อได้รวบรวมพยานหลักฐานและเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นพิจารณา 70 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่เข้าสู่ขั้นตอนไต่สวน 22 เรื่อง โดยในขั้นตอนนี้ มีการแจ้งข้อกล่าวหา การให้ผู้ถูกร้องแก้ข้อกล่าวหา การสรุปสำนวนไต่สวนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา เรื่องใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด เราจะส่งไปยังอัยการเพื่อดำเนินคดีทางอาญา หรือผู้บังคับบัญชา/ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยหรือตามอำนาจหน้าที่ ส่วนเรื่องใดบ้างที่มีการชี้มูลความผิด จะได้เผยแพร่ให้ทราบในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ในจำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนทั้งหมด พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวข้องกับ
- การจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ฮั้วประมูล เรียกรับเงิน การเบิกจ่าย การซื้อหรือจ้าง 36.58%
- ร่ำรวยผิดปกติ/เบียดบังทรัพย์ทรัพย์สินราชการ/การขออนุญาตหรือจดทะเบียน 20.33%
- ทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ น้ำ การเกษตร 14.33%
- สังคมและการศึกษา 13.82%
รวมมูลค่าของโครงการที่มีการร้องเรียนในปีที่ผ่านมา มูลค่า 273,303,306.35 บาท
แม้ว่าจังหวัดเลยจะมีปริมาณเรื่องร้องเรียนน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แต่เราคาดหวังว่าจะลดน้อยลงไปอีก ด้วยการปลูกฝังค่านิยมที่สำคัญให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่
- การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นการทำความดี อันเป็นพื้นฐานให้คนลดความละโมบโลภมากลง ลดการเบียดเบียนสังคมและคนอื่นลง นำไปสู่การดำรงชีพอย่างสุจริต ซึ่งความสุจริตเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดี เราเชื่อว่าหากคนใดรักในการทำความดี คนๆนั้นจะมีแนวโน้มรักความสุจริตและเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งด้วย
- เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดูดายในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ลงไปแก้ปัญหา ไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งยังต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง ดำรงชีพอย่างเรียบง่าย พอเพียง ดังที่พ่อเมืองเลยได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างตลอดมา