ชวนเที่ยวชม ป่าจำปีสิรินธรที่บ้านซับจำปา จ.ลพบุรี ดอกไม้ป่าทรงคุณค่ามีที่เดียวในโลก
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.62 เราได้มีโอกาสไปชมป่าจำปีสายพันธุ์ใหม่ ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกและพบได้เฉพาะในพื้นที่ ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เท่านั้น จำปีสายพันธุ์ใหม่ที่เราได้บอกไปนั้น มีชื่อว่า “จำปีสิรินธร” และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Magnolia sirindhorniae Noot & Chalermglin) เป็นพรรณไม้จำปี ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลก พบได้ที่ป่าพรุชุมชน ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ซึ่งค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการระดับ 10 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่บ้านซับจำปา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ได้พบป่าพรุน้ำจืด และพบต้นจำปีที่มีความแตกต่างจากจำปีหรือจำปาทั่วไป เนื่องจากว่าสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพของป่าพรุน้ำจืด
จำปีสิรินธรจัดอยู่ในวงศ์จำปา (Family Magnoliaceae) พรรณไม้ในวงศ์นี้ จัดเป็นพรรณไม้ที่มีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์มากที่สุดในหมู่ของไม้ดอกที่มีอยู่ในยุคปัจจุบันนี้มีวิวัฒนาการในการปรับตัวต่ำที่สุด จึงเป็นพรรณไม้ที่มีโอกาสสูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติได้มากที่สุด ลักษณะเด่นของพรรณไม้ในวงศ์จำปา ได้แก่ มีลำต้นได้หลายขนาดนับตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเป็นไม้พุ่ม มีเปลือกไม้ค่อนข้างหนา ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นฉุน มีช่องอากาศเป็นรอยขีด สีขาวนูนเล็กน้อยกระจายอยู่ มีใบเดียว ออกเวียนรอบกิ่ง พรรณไม้พื้นเมืองของไทยในวงศ์นี้ไม่ผลัดใบ มีดอกขนาดใหญ่เป็นดอกเดียว ออกตามซอกใบหรือตามปลายยอดมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกที่มีลักษณะคล้ายคลังกัน มีกลีบหนา ฉ่ำน้ำ แข็งเปราะมีเกสรเพศผู้และเพศเมียจำนวนมาก มีผลเป็นผลกลุ่ม อยู่รวมกันเป็นช่อ ส่วนใหญ่เปลือกผลเชื่อมติดกัน แล้วแตกออกแนวเดียว มีเมล็ดแก่สีแดงเข้มส่วนใหญ่ขึ้นอยู่บนภูเขาตามยอดดอยทีมีอากาศหนาวเย็นและชื้น
ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับพรรณไม้วงศ์จำปาที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง สามารถระบุได้ว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (New Species) เมื่อมีการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบรายละเอียดซ้ำที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศ เนเธอแลนด์ ทางศาสตราจารย์ฮัน พี นูติบูม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์จำปา ก็ยืนยันว่าเป็นไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงร่วมกันเขียนรายงานการค้นพบ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากกรมสมเด็จพระเทพฯ ให้ใช้ชื่อพระนามาพิไธยเป็นชื่อพืชชนิดใหม่ว่า Magnolia Sirindhorniae Noot. & Chalermglin โดยมีชื่อภาษาไทยว่า “จำปีสิรินธร” แล้วนำลงพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้ BLUMEA เมื่อเดือนสิงหาคม 2543
ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่น คือ ขึ้นแช่น้ำอยู่ในป่าพรุน้ำจืดของภาคกลางมีต้นใหญ่เปลือกแตกเป็นลึกตามยาว ใบแก่รูปรีค่อนข้างกลม ดอกเริ่มแย้มมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอกปลายกลีบมนกลม กลีบค่อนข้างบางช่อผลค่อนข้างกลมและเล็ก
สำหรับ ปัจจุบัน ป่าจำปีสิรินธร แห่งนี้ ดูแลโดย สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ และ ป่าจำปีสิรินธร แห่งนี้ ยังเป็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญของ จ.ลพบุรี โดยผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาเรียนรู้ จะเดินศึกษาธรรมชาติ ตามทางเดินคอนกรีตที่มีระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งตลอดทางเดินก็จะพบกับต้น จำปีขนาดใหญ่ ต้นคุ้ม ต้นร๊อก ต้นเฟิร์น ต้นกรวย ต้นยางนา ต้นเต่าร้าง และสมุนไพร 100 กว่าชนิด และมีศาลาเรียนรู้ 4 จุด ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว
ขอคุณภาพจาก โครงการอนุรักษ์จ.ลพบุรี จำปีสิรินธร
ทางด้านไกด์ชุมชนเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเนื่องจาก ต้นจำปีสิรินธร มีลำต้นสูงคือ 25- 30 เมตร เวลาออกดอก ชาวบ้านมักไม่ค่อยได้เห็นดอกสดๆ จะเห็นก็แต่ดอกที่แก่และหลุดล่วงลงมาแล้ว ซึ่งดอกบนต้นจะมีสีขาวนวล ส่วนดอกที่แก่จะมีสีเหลืองนวลเหมือนดอกจำปา จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นต้นจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านซับจำปา ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำและต้นจำปาขึ้นอยู่ สำหรับต้นจำปีสิรินธรในป่าแห่งนี้ มีอายุประมาณ 60-100 ปี ปัจจุบันเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยต้น เพราะปัญหาที่สำคัญของป่าจำปีสิรินธร คือการขาดแคลนน้ำพุใต้ดิน เพราะผลกระทบจากพืชเชิงเดี่ยวและการดึงน้ำบาดาลไปใช้ จึงทำให้รากของต้นจำปีสิรินธร ที่เคยชุ่มชื้นโยกคลอนและล้มลง ซึ่งในอดีตเคยมีตาน้ำหล่อเลี้ยงป่าจำปีสิรินธร 46 ตา แต่ในปัจจุบันเหลือตาน้ำอยู่เพียง 1 ตา จึงทำให้น้ำไม่เพียงพอกับปริมาณเนื้อที่ขนาด 96 ไร่ ส่งผลให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก และปัจจุบันทางกรมป่าไม้ ได้แก้ปัญหาโดยการเพิ่มตาน้ำใต้ดิน ด้วยการสูบน้ำจากแหล่งอื่นมายังผืนป่าแห่งนี้ เพื่อไม่ให้น้ำใต้ดินขาดแคลน ตลอดชาวบ้าน และหลายหน่วยงานได้ช่วยกันปลูกต้นจำปีสิรินธรเพิ่ม และเข้ามาช่วยกันดูแลป่าแห่งนี้ร่วมกัน
บริเวณใกล้กับ ป่าจำปีสิรินธร เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ซับจำปา ที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้าน ตลอดจนเรื่องราวของ เมืองโบราณซับจำปา ซึ่งเป็นเมืองโบราณในยุคทวารวดี ซึ่งจากร่องรอยคูน้ำคันดินและหลักฐานโบราณวัตถุที่พบทั่วไป ในแถบอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งของยุคทวารวดี และสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองโบราณ คือ ป่าจำปีสิรินธร จำปีสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น และด้วยความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชุมชนและต้นไม้อันมีคุณค่า หน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ จึงช่วยกันจัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร ขึ้นที่โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม ต่อมาได้รับความร่วมมือกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) พัฒนาปรับปรุงให้เป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ และใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ซับจำปา
การจัดแสดงภายในอาคาร แบ่งเป็น 7 ห้อง ประกอบด้วย
- ห้องที่ 1 ซับจำปา นำเสนอเรื่องราวของเมืองโบราณที่หายสาบสูญไปนับพันปี
- ห้องที่ 2 ทรัพย์สำแดง “ตั๊กแตนปาทังก้า” จะชักพาให้ไปพบกับเมืองโบราณที่ซ่อนเร้น
- ห้องที่ 3 ทรัพย์บังเกิด จัดแสดงเรื่องราวของพระมหาการุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดี “ซับจำปา”
- ห้องที่ 4 ทรัพย์สมบัติ แสดงเรื่องราวของซับจำปา เมื่อ 3,000 ปีก่อน ที่เป็นชุมทางการค้าและแหล่งรวมสมบัติที่สร้างความมั่งคั่ง
- ห้องที่ 5 ทรัพย์อักษร ไขปริศนาจารึกโบราณพันปี มรดกทางวัฒนธรรมและศาสนา
- ห้องที่ 6 ทรัพย์ทางปัญญา คำสอนของพระพุทธเจ้า สถิตเป็นสัญลักษณ์อย่างแยบยลใน กงล้อธรรมจักร เสาธรรมจักรแปดเหลี่ยม และกวางหมอบ
- ห้องที่ 7 ทรัพย์แผ่นดิน “ซับจำปา” คือ ทรัพย์แผ่นดินที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาอาศัยพึ่งพิง
นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน ในเวลา 08.30 – 16.30 น.และไม่เสียค่าเข้าชม และสอบถามข้อมูลได้ที่ ททท.สำนักงานลพบุรี โทร. 036-770096-7
การเดินทางสะดวกสบาย
- รถยนต์ จากกรุงเทพฯ เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอพระพุทธบาท เข้าสู่ จังหวัดลพบุรี ระยะทางประมาณ 153 กิโลเมตร
- รถโดยประจำทาง มีรถโดยสารธรรมดา ปรับอากาศ และรถตู้ สายกรุงเทพฯ-ลพบุรี ออกจากสถานีขนส่งจตุจักร(หมอชิต 2) ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
- รถไฟ มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดลพบุรี ทุกวัน
จากตัวเมืองลพบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน พอถึงวงเวียนเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2338 ขับตรงไปถึงพิพิธภัณฑ์ซับจำปา