รมว. เฉลิมชัย บอกไม่เอายังไม่พูดถึงการดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯ หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย. แล้ว
เนื่องจากยังไม่มีเอกสารสรุปผลการลงมติอย่างเป็นทางการมาถึง จึงยังชี้ชัดไม่ได้ว่า หน่วยงานใดต้องปฏิบัติอย่างไร
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ยังรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการสรุปผลประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะชี้ชัดว่า กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานปฏิบัติต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป สำหรับข้อถกเถียงเรื่องมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องชี้แจงให้ชัดเจน การที่ฝ่ายต่างๆ พูดกันไปพูดกัน มายิ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม แต่แม้ยังไม่มีการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด คณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ยังคงเดินหน้าหาสารและแนวทางในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
“ขอให้ใจเย็นๆ ก่อน หากตอบไปตอนนี้ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน จะยิ่งทำให้เกิดประเด็นทางสังคม โต้กันไปมา จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายสรุปอย่างเป็นทางการมาว่า หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นหน่วยปฏิบัติต้องทำอย่างไรก็จะเร่งดำเนินการตามมติทันที ที่เป็นห่วงมากขณะนี้คือ ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค” นายเฉลิมชัยกล่าว
ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้จะนำผู้แทนเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเข้าพบนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อสอบถามแนวทางการปฏิบัติหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพรฟอสออกไป 6 เดือนและจำกัดการใช้ไกลโฟเซตเนื่องจากขณะนี้เกษตรกรปฏิบัติตัวไม่ถูก แต่เห็นว่า หากมติเป็นเช่นนั้น ต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ทั้ง 3 สารตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรต้องอบรมเกษตรกรการใช้สารเคมีการเกษตรทั้ง 3 ชนิดต่อ จากเดิมที่อบรมไปประมาณ 466,000 กว่าคน จากเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดประมาณ 1.5 ล้านคนเพื่อที่เกษตรกรจะได้ใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อันจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยทั้งแก่เกษตรกรและผู้บริโภคทั้งประเทศ